Thursday 7 August 2008

ทัศนคติที่ดี ตอนที่ 3 (ตอนสุดท้าย)

ประการที่ 4 การมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์

การมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เป็นทัศนคติที่มองว่าคนเราควรมีอิสระ เสรีภาพทางด้านความคิด ไม่จำเป็นต้องเดินตามกรอบที่ตีไว้หากแต่บ่อยครั้งที่เราพบว่าผู้คนมักกล่าวอ้างว่าเป็นการคิดนอกกรอบ แต่ที่จริงแล้ว การคิดนอกกรอบตามนัยที่แท้แล้วอาจมิใช่เพียงการใช้เสรีภาพทางการคิดให้แตกต่างออกไปโดยไม่พิจารณาถึงเหตุที่กรอบนั้นถูกตีขึ้นมาทำให้ความคิดที่เกิดขึ้นนั้นแตกต่างหรือสวนกระแสกับกรอบดังกล่าวไปโดยสิ้นเชิงที่อาจเรียกว่า ขบถทางความคิด หากแต่ที่จริงแล้วการคิดริเริ่มสร้างสรรค์ต้องเป็นการใช้อิสระ เสรีภาพทางด้านความคิดที่มีพื้นฐานอยู่ที่ความรู้ ความเข้าใจตามสภาพความเป็นจริงที่ปรากฎ โดยไม่ลืมที่จะพิจารณากรอบที่ถูกขีดขึ้นมานั้นด้วย


ประการที่ 5 การประเมินและความคาดหวังต่อศักยภาพของคนอื่น

ความคาดหวังต่อศักยภาพของตนเอง เป็นทัศนคติที่มีฐานมาจากการประเมินถึงศักยภาพของตนเองโดยมีพื้นฐานถึงความเข้าใจ หรือรู้ถึงศักยภาพที่แท้จริงของตนเองหากเราสามารถประเมินศักยภาพของตนเองว่ามีเพียงพอแล้ว ก็ต้องไม่ลืมในการพัฒนาศักยภาพของเราให้สูงขึ้น หรือแม้ว่าเราประเมินได้ว่าศักยภาพของเราไม่เพียงพอ ก็ต้องพยายามในการพัฒนาศักยภาพของเราให้สูงขึ้นเช่นกัน แต่บ่อยครั้งคนเราหาได้ทำเช่นนั้นไม่ หากแต่เมื่อประเมินศักยภาพของตนเองแล้ว แทนที่จะมีการพัฒนาตนเอง กลับไปประเมินศักยภาพของคนอื่น โดยมุ่งหวังที่จะอาศัยศักยภาพของคนอื่นในการเข้ามาจัดการงานของตน ซึ่งเป็นการที่เรานำเอาความสำเร็จของงานไปขึ้นอยู่กับคนอื่น การมีทัศนคติต่อศักยภาพของคนอื่นที่ถูกต้อง จึงควรเป็นไปในแนวทางที่เราจะต้องพัฒนาศักยภาพของตนเองให้สูงพอที่จะทำการของตนให้ลุล่วง จนอาจเป็นที่พึ่งของคนอื่นได้ด้วย หรือไม่ก็เป็นกรณีที่ตนเองมีศักยภาพ แต่กลับผลักภาระให้ความสำเร็จของงานไปขึ้นกับศักยภาพของบุคคลอื่น โดยลืมไปว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการทำให้บุคคลอื่นพัฒนาศักยภาพมากขึ้นในขณะที่ตนเองกลับถูกทิ้งให้เดินตาหลังผู้อื่นแต่อย่างเดียว


ประการที่ 6 ทัศนคติด้านตรรกะ ในการแก้ปัญหา

ทัศนคติด้านตรรกะในการแก้ปัญหา เป็นทัศนคติซึ่งคนส่วนใหญ่มี และใช้อยู่ตลอดเวลาทุกครั้งที่มีปัญหาเข้ามาในชีวิต โดยตรรกะในการทัศนคติที่ดีในการแก้ปัญหาในที่นี้ คือ การที่เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นแล้วเราสามารถแก้ได้เพียงใด การสาวหาเหตุปัจจัยที่เป็นที่มาของปัญหา บ่อยครั้งที่คนเรามักมองสาเหตุแห่งปัญหาผิดจุด คือ การมองสาเหตุของปัญหาจากจุดไกลมายังจุดใกล้ มองจากภายนอกเข้ามาภายใน ซึ่งที่จริงแล้วการหาเหตุแห่งปัญหาที่ง่ายและเป็นแนวคิดที่ดี ควรเริ่มจากการมองดูที่ตัวเองก่อนว่าเป็นส่วนหนึ่งในการก่อให้เกิดปัญหานั้นขึ้นหรือไม่ แทนที่พยามหาว่าอะไร หรือใครเป็นสาเหตุแห่งปัญหานั้น อีกทั้งในบางครั้งเมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าตนเองเป็นสาเหตุประการหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาหรือ ความผิดพลาดนั้นๆขึ้น แต่ก็กลับไม่ยอมรับความจริง ว่าตนผิดพลาดและควรเร่งพัฒนาศักยภาพของตน แต่กลับครุ่นคิดวกวนความผิดพลาดนั้นจนท้อแท้ และไม่เดินต่อไปยังจุดหมายที่ตั้งใจ


ทัศนคติดังกล่าวข้างต้น ทั้ง 6 ประการ ถือได้ว่าเป็นตัวอย่างของทัศนคติที่ดี หรือแนวคิดเชิงบวกพื้นฐานต่อตนเอง และต่อสังคมรอบข้างที่อย่างน้อยทุกคนควรต้องมีและต้องพร้อมที่จะพัฒนาตนเองให้มีทัศนคติที่ดีด้านอื่นๆ ให้มีมากขึ้นตามลำดับต่อไป

No comments: