Tuesday 14 December 2010

ความเจริญรุ่งเรืองของการศึกษาไทย

รู้น้อยว่ารู้มาก เริงใจ
กลกบเกิดอยู่ใน สระจ้อย
ไป่เคยเห็นชเลไกล กลางสมุทร
ชมว่าน้ำบ่อน้อย มากล้ำ ลึกเหลือ

(โคลงโลกนิติ)













ผมห่างหายไปจากการเขียนเรื่องราวความเป็นไปในชีวิตของผม ตั้งแต่กลับมาอยู่เมืองไทยไประยะหนึ่ง แต่สิ่งที่ปลุกให้ผมต้องลุกขึ้นมาระบายอะไรบ้างวันนี้ ก็คือเรื่องของการศึกษาของบ้านเรา

ก่อนอื่นใด ผมกล้ายอมรับได้เต็มปากว่าโอกาสในชีวิตของผมที่ได้รับการหยิบยื่นเข้ามานั้น ล้วนแต่มีปัจจัยหลายประการ แต่สำคัญประการหนึ่งก็คือการที่เรียกว่าผมได้ภาษาอังกฤษ โลกภายนอกทั้งในประเทศไทย และในต่างประเทศที่ผมได้ไปใช้ชีวิตอยู่มาระยะหนึ่งสอนให้ผมได้รู้ว่า การเรียนรู้ของคนนั้นมันมีประตูอยู่สองบาน ประตูบานแรกก็คือประตูแห่งการรู้ และประตูบานที่สองคือประตูแห่งความเข้าใจ

ประตูแห่งการรู้ คือประตูบานแรกที่เราเปิดรับสิ่งต่างๆ ภายนอก เป็นการที่เราจะเปิดใจรับรู้ และยอมรับสิ่งต่างๆ ภายนอกที่เข้ามา ส่วนประตูแห่งความเข้าใจ ก็คือการเข้าใจในสิ่งที่เรารับรู้ ในสิ่งที่เขาพูด ซึ่งในที่นี่ก็คือความสำคัญของภาษาเพราะว่าหากเราเปิดใจยอมรับแล้ว แต่กลับไม่เข้าใจสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาเลยเพียงเพราะว่าเราไม่รู้ว่าเขาพูดอะไรกัน ด้วยเหตุผลที่ว่าเพราะมันไม่ใช่ภาษาของเรา ดังนั้นความสำคัญของภาษาโดยเฉพาะภาษาอังกฤษซึ่งถือว่าเป็นภาษากลางในการสื่อสารทั่วโลก จึงมีมากนัก

แต่ก่อน ผมมักได้ยินคนพูดกันเสมอ ว่าเราเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคนี้ที่ไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศมหาอำนาจตะวันตก สิ่งนี้ทำให้เราอหังการ และถือว่าเราแน่มาก ดังนั้นเมือได้ยินเสียงเปรยถึงมาตรฐานภาษาอังกฤษของคนไทยที่ไม่ใคร่จะสูงนัก เราก็มันจักแย้งเสมอว่าก็เพราะว่าเราไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นฝรั่ง เหมือนประเทศรอบๆ เรา (ผมได้ยินคำแย้งลักษณะนี้บ่อยมาก ในช่วงวัยเด็กของผม)

แต่ปัจจุบันยุคแห่งการล่าอาณานิคมได้จบสิ้นไปแล้ว ยุคแห่งประกาศเอกราช และการสร้างชาติได้ผ่านไปแล้ว มันเป็นยุคแห่งการขับเคลื่อนประเทศชาติไปตามสังคมโลกที่มีพลวัตไปอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การสร้างอัตตาอย่างมากมายในตัวเองที่ว่าเราเก่งกล้าสามารถ ดีกว่าผู้อื่น หรือการเก่งแต่เพียงคนเดียว คงจะอยู่ได้ยากในปัจจุบัน

หากแต่เราจะต้องเดิน หรือวิ่งตามโลกที่เจริญรุดหน้าไปเรื่อยๆ ทั้งวิทยาการและเทคโนโลยี ดังนั้น บทบาทของการศึกษาจึงทวีความสำคัญขึ้นอย่างมาก ซึ่ง ณ ปัจจุบันเราคงไม่อาจปฏิเสธความสำคัญของภาษาโดยเฉพาะภาษาอังกฤษไปได้อีกเช่นกัน เพราะว่าศิลปวิทยาการต่างๆ ตลอดจนการติดต่อสื่อสารที่ต้องอาศัยภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลางมีเกิดขึ้นอย่างมากมายมหาศาล

สำหรับประเทศไทยแล้ว เรื่องนี้ก็มีความสำคัญอย่างมากทีเดียว จนกระทั้งเจ้ากระทรวงอย่าง นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รมว.ศธ. วางแผนที่จะประกาศให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองในการเรียนการสอนทีเดียว ทั้งนี้เนื่องจากเจ้ากระทรวงเห็นว่าการสร้างพลเมืองยุคใหม่ที่เก่ง ดี มีความสุข และที่สำคัญต้องสามารถแข่งขันได้ในสังคมโลก จุดยืนในเรื่องนี้ของกระทรวงจึงควรได้รับการผลักดันอย่างเต็มที่

ผมเห็นด้วยกับจุดยืนดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง

แต่ทว่าสิ่งที่มำให้ผมไ่ม่ใคร่จะเข้าใจก็คือ ในเวลาต่อมา ศธ.ได้ประกาศลดการยกระดับภาษาอังกฤษเป็นเพียงภาษาต่างประเทศ มิใช่ ภาษาที่สองของไทย โดยให้เหตุผลว่า เป็นเรื่องอ่อนไหวต่อความเข้าใจของประชาชน และต่อหน่วยงานต่างๆ ที่จะรับแนวทางไปปฏิบัติ เพราะในทางการเมืองแล้ว การประกาศให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง จะนำไปสู่ความเข้าใจว่าประเทศที่ประกาศตามแนวทางดังกล่าวเป็นประเทศที่เป็นเมืองขึ้น หรือประเทศอาณานิคมมาก่อน

ผมกลับเห็นว่าตรรกะของคนในกระทรวงนี้ดูจะแปลกดีเสียนี่กระไร ไอ้เรื่องไม่เห็นด้วยเรื่องการยกระดับภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองนั้น ผมไม่อาจไปก้าวก่าย เพราะเป็นเรื่องของความคิดเห็นส่วนบุคคล ที่อาจมีเหตุผลส่วนบุคคลที่มเื่อบอกออกมาแล้วอาจได้รับการตอบสนองเป็นการพยักหน้าหรือส่วยหน้า ก็ไม่อาจทราบได้

แต่เหตุผลที่ยกว่าการนั้นจะเป็น"การะนำไปสู่ความเข้าใจว่าประเทศที่ประกาศตามแนวทางดังกล่าวเป็นประเทศที่เป็นเมืองขึ้น หรือประเทศอาณานิคมมาก่อน" นี่นะสิน่าคิด เพราะหากการศึกษาของประเทศเราสามารถสอนให้เด็กเข้าใจได้ว่าการเรียนและการรู้ภาษาอังกฤษเป็นสิ่งที่สำคัญมากในปัจจุบัน เป็นเพราะประเทศเราเคยตกเป็นเมืองขึ้นฝรั่งมาก่อนได้นั้น ผมคิดว่าระบบการศึกษาของประเทศไทยมันคงหายนะ ครูอาจารย์คงต้องกลับไปนั่งคิดแล้วหละครับ เพราะมันคงไม่ได้เป็นผลสะท้อนความล้มเหลวจากการเรียนวิชาภาษาอังกฤษ แต่ยังรวมไปถึงวิชาสังคมศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ภาษาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งก็คงหมายถึงความล้มเหลวไม่เป็นท่าของระบบการศึกษาไทย

ดังนั้นการศึกษาของเด็กไทย ที่สอนให้เด็กอยู่ภายในกะลา ก็คงไม่ทำให้เราคิดอะไรได้มากไปกว่า "ในกะลาคือโลกกว้างใหญ่" และระบบการศึกษาไทยก็จะยังคงล้าหลังอยู่อย่างนั้นแหละ

ว่าแต่ว่าผมกลับสงสัยว่า "ทำไมหนอคนใหญ่คนโตที่อายุอานามก็ปาเข้าไป 50-60 ปี ในบ้านเราถึงคิดได้ขนาดนี้"

คำตอบอาจจะยาก เพราะว่าเราไม่อาจเข้าใจปรัชญาการศึกษาอันลึกซึ้งของคนเหล่านั้นได้" หรือไม่คำตอบก็อาจจะง่ายมากเพียง "เพราะว่าระบบการศึกษาของไทยมันคงล้มเหลวมา 50 -60 ปีแล้วกระมังครับ" และกะลาใบนี้มันก็คงเก่าแก่จนผุกร่อน เพราะว่าใช้ตกทอดกันมาเสียหลายยุคหลายสมัยเป็นแน่แท้

ขอสงบนิ่ง ไว้อาลัยให้ระบบการศึกษาไทยสักหนึ่งนาที...............


Friday 13 August 2010

Mother's Day

ผ่านวันแม่มาหนึ่งวันแล้วครับ แต่เพิ่งมีโอกาสมาเขียนเกี่ยวกับวันแม่ในปีนี้ของผม


ปีนี้ต่างไปจากปีที่แล้่ว เพราะวันแม่เมื่อปีที่แล้วผมอยู่ที่เยอรมนี กับออสเตรีย เพื่อไปเรียนซัมเมอร์ที่นั่นครับ แต่ปีนี้ผมกลับมาอยู่ที่บ้านของผม ที่นี่ ในประเทศไทย ที่ซึ่งแม่ของผมอยู่ แต่ทั้งนี้ผมก็ไม่ได้อยู่กับแม่ผมในวันแม่อยู่ดี เพราะทุกวันแม่ แม่ผมต้องเดินทางไปทำบุญที่จังหวัดกาฬสินธุ์ และปีนี้ก็เป็นเช่นเดียวกัน


ดังนั้น การแสดงออกของผมในปีนี้กับปีที่แล้วจึงไม่ได้ต่างออกไป นั่นก็คือการโทรศัพท์ไปสวัสดีวันแม่ครับ เช่นที่เคยทำทุกปี ซึ่งต้องใช้ความพยายามมากเช่นทุกปี เพราะที่กาฬสินธุ์ โทรศัพท์ไม่ค่อยมีสัญญาณ ต้องโทรหลายครั้งกว่าจะได้คุยกันก็บ่ายโน่นแหละ


อีกตอนคุยสัญญาณก็กระตุกทำให้เสียงขาดๆ หายๆ เปรียบเสมือนมีอุปสรรคมาขัดขวางเสียนี่กระไร เฮ้อ... สรุปเลยคุยกันได้ไม่กี่ประโยค สัญญาณก็หายไป


แต่ก็นะ ความสำคัญอย่างแรกคงไม่ใช่ว่าเราได้พูดอะไรมากมายกับแม่ หากแต่คือการระลึกถึงและโทรหาท่านมากกว่า เพราะคำพูดที่เราพูดมันก็เหมือนเดิมทุกครั้งไป หากแต่ความตั้งในในการพูดต่างหากที่มันสำคัญ บางคนอาจบอกว่าวันแม่มันคือทุกวัน ไม่จำเป็นต้องเป็นวันนี้ แต่วันนี้ก็เป็นที่มีค่าเพียงพอในการจะเริ่มทำไม่ใช่หรือครับ ดังนั้นใครยังไม่เคย หรือยังไม่ได้ทำ ก็เริ่มได้แล้วครับ

ทุกคนบอกรักแม่หรือยังครับ








Wednesday 28 July 2010

1 month in Thailand

I have been here in Thailand for one month. 30 days passed...I have many things to manage; daily life, jobs, family affairs and many more.

1 month in Thailand is not a perfect one because I am still on leave and will continue my job next semester (around November), then I have much time to manage somethings new!

What to do next? Now I am looking for new experience form new place, new environment and new colleagues......but it's so hard to find that new one....bored, tried but still not give up.

The good thing here is staying with family and friends, this make me feel good.. thank you for your encouragement......

I will try my best to do it and will try to up to date my situation here in my blog.....


WON'T GIVE UP

K-Jay

Tuesday 15 June 2010

Sverige: Counting down

เวลาเกือบสองปีในเมืองลุนด์ประเทศสวีเดน ของผมเริ่มนับถอยหลังลงเรื่อยๆ จนกระทั่งวันนี้ เวลาที่นี่ของผมเริ่มเหลือสั้นลงเรื่อยๆ และในทางกลับกันจุดหมายใหม่คือประเทศไทยเริ่มสว่างขึ้นเรื่อยๆ.....

ภาพจำมากมายที่เกิดขึ้นตลอดสองปีในสวีเดน และประเทศต่างๆ ในยุโรป ช่วยเติมเต็มให้ความทรงจำของผมในครั้งที่อยู่ที่นี่แจ่มชัดขึ้น ประสบการณ์ มิตรภาพ และความทรงจำดีๆ มากมายเกิดขึ้นที่นี่ หากทว่าผมจะนำกลับไปด้วย เพื่อย้ำนึกเมื่อคิดถึงที่นี่

หากจะย้อนภาพกลับไปวันแรกในการเดินทางมาเรียนที่สวีเดน ผมจำความรู้สึกนั้นได้ดี การเดินทางไกลมากเพียงลำพังครั้งแรกของผม แม้จะรู้สึกหวั่นอยู่บ้างที่รู้ทั้งรู้ว่าหนทางข้างหน้าไม่ได้ง่ายเลย แต่เมื่อตัดสินใจแล้วผมก็ต้องเดินต่อไปข้างหน้า

คืนวันที่ 22 สิงหาคม 2008 ท่ามกลางญาติพี่น้องที่สนามบินที่มีความปรารถนาดี และมาส่งผม ผมจำบรรยากาศวันนั้นได้ดี โดยเฉพาะเมื่อถึงเวลาที่ผมต้องเข้าไปด้านในแล้ว ตอนนั้นผมคิดเพียงอย่างเดียวเท่านั้น คือ "ผมได้ตัดสินใจแล้ว ไม่ว่าหนทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ผมก็จะต้องเดินต่อไป ผมหันหลังกลับไม่ได้ ผมต้องเดินหน้าต่อไป" แล้วผมก็เดินเข้าไปภายในโดยไม่ได้เหลียวหลังกลับมามอง เพื่อให้เกิดห่วงอีกเลย

จากวันนั้น ผ่านมาเกือบสองปี ผมได้ทำตามความฝันของผมจนสำเร็จแล้ว สามารถเอาปริญญากลับบ้านไปฝากพ่อแม่ พี่น้องและญาติๆ ได้สำเร็จ

สองปีที่ผ่านมามีความทรงจำดีๆมากมายเกิดขึ้นกับผม

  • ความรัก และปรารถนาดี ที่ผมรับรู้และสัมผัสมันได้ จากครอบครัวของผม อาปา อาม้า และพี่ๆ ของผม ที่ต่างปรารถนาดีและเดินทางมาส่งและเป็นกำลังใจให้ผม ตั้งแต่วันแรกของการเดินทางไกลครั้งนี้ ถ้อยคำอวยพรที่เปล่งออกมาก ผมรับรู้ได้ถึงความรักและความปรารถนาดีเหล่านั้น
  • ความคิดถึง.....นับจากวันนั้น ผมได้ห่างจากครอบครัวที่ผมรัก คนที่ผมรัก และคนที่รักผมโดยระยะทาง มันทำให้ผมรู้ได้ว่า ความคิดถึงมันคืออะไร
  • มิตรภาพ เป็นสิ่งแรกที่ผมได้รับ ตั้งแต่เดินเข้ามารอขึ้นเครื่องๆ น้องๆ หลายคนที่เดินทางในคืนวันนั้น ได้เข้ามาสร้างมิตรภาพที่งดงามกับผม ตลอดปีแรกของการใช้ชีวิตที่นี่ อย่างน้อยก็ทำให้รู้ว่า ชีวิตของผมที่ลุนด์อย่างน้อยในปีแรก ผมก็ได้ได้โดดเดี่ยวที่นี่
  • มิตรภาพในต่างแดน ผมได้รับมาอย่างต่อเนื่องจากผู้คนที่นี่ ไม่ว่าจะจากคนไทยที่ใช้ชีวิตที่สวีเดนก็ดี ชาวสวีเดนเองก็ดี หรือแม้แต่บรรดาเพื่อนๆ ที่ต่างคนต่างมาจากหลากหลายที่ ทุกคนต่างสร้างมิตรภาพที่สวยงามและน่าจดจำแก่ผม ทำให้ผมรู้ว่า ผมไม่ได้อยู่เพียงลำพังที่นี่
  • ภาพประทับใจ และประสบการณ์มากมายเกิดขึ้นกับผมที่นี่ การเดินทางตลอดสองปีทำให้ผมแกร่งขึ้นกว่าเดิม ทำให้ผมเข้าใจโลกมากว่าเดิม และที่สำคัญทำให้ผมเป็นผู้ใหญ่มากขึ้นกว่าเดิม
เกือบสองปีแล้วที่ทุกอย่างเกิดขึ้น และเวลานี้กำลังนับถอยหลังลงเรื่อยๆ ณ เวลานี้มันยังคงเป็นปัจจุบัน หากแต่อีกไม่นานมันจะเป็นอดีตที่น่าจดจำ และผมจะจดจำมันไว้ตลอดไป




Wednesday 9 June 2010

Graduated

และแล้วก็จบแล้วครับสำหรับการเรียนที่สวีเดน ผมไม่ได้เข้ามาเล่าเรื่องราวต่างๆ เป็นเวลานานพอควร เพราะว่ามีเรื่องราวที่ต้องดำเนินการมากมาย ทั้งเรื่องของการสอบวิทยานิพนธ์ การ oppose วิทยานิพนธ์ แล้วก็งานรับปริญญา


สำหรับการไปออพโพส ผมได้ไปค้านวิทยาพิพนธ์ของเพื่อนสนิทของผมเอง ล็อตต้า ซึ่งเขียนเกี่ยวกับสิืทธิของชาวซอมิ ชนพื้นเมืองของประเทศสวีเดน ทุกอย่างก็ผ่านไปได้ด้วยดี

การสอบวิทยานิพนธ์ของผม ก็ผ่านไปได้ด้วยดี แม้ว่าแดนนี่จะเจอปัญหามาไม่ได้ในนาทีสุดท้ายก็ตาม การออพโฟสโดยโยฮัน ก็เป็นไปโดยราบรื่นครับ

จากนั้นสองวันต่อมาก็ถึงงานวันรับปริญญา ซึ่งเป็นวันสุดท้ายกับการเจอเพื่อนๆ ทุกคน (ส่วนใหญ่) ของชั้นปี

นี่ก็ผ่านมาอาทิตย์นึงแล้วหลังวันรับปริญญา ทุกอย่างเร็วมาก ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป จากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี

เกือบสองปีในสวีเดน ผมรู้สึกได้ว่าผมเป็นคนโดยสมบูรณ์แล้วครับ

อยากของคุณเพื่อนๆ ทุกคนที่ร่มแชร์ประสบการณ์ร่วมกัน อาจารย์ทุกท่านที่ทำให้ผมเข้าใจว่าหากผมอยากทำอาชีพนี้ต่อไป ผมต้องใช้ความพยายามมากทีเดียวในการจะเป็นอาจารย์ที่ได้ชื่อว่า อาจารย์ที่ดี ขอบคุณมหาวิทยาลัยลุนด์แห่งนี้ที่ทำให้ผมภาคภูมิใจในการเป็นส่วนหนึ่งของ Juridicum และต้องขอบคุณสบอนเซอร์สำคัญในการเรียนของผมที่นอกเหนือกว่าครอบครัว คือ Raoul Wallenberg Institute และ SIDA สำหรับค่าใช้จ่ายที่ช่วยให้ผมดำรงชีพในสวีเดนอย่างไม่ลำบาก

ขอบคุณจริงๆ


Monday 24 May 2010

My supervisor

ตอนนี้เพิ่งจะแก้วิทยานิพนธ์ส่งกลับไปให้ที่ปรึกษา เลยนึกว่าไม่เคยได้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของผมท่านนี้เท่าไหร่ครับ วันนี้เลยอยากมาเขียนไว้สักหน่อย

ที่ปรึกษาของผมนี้หากจะเอาไปคุยแล้ว ในแวดวงนักกฎหมายระหว่างประเทศคงอาจไม่รู้จักหรอก เพราะเขาเป็นเหมือนคลื่นลูกใหม่ที่กำลังขึ้นมาครับ เขาชื่อว่า Daniel Kuwali หรือที่เรียกง่ายๆ ว่าแดน หรือแดนนี่ นี่แหละ แดนมาจากประเทศมาลาวีครับ ซึ่ง ณ ปัจจุบันแดนกลับไปมาลาวีแล้ว แต่ผมก็อาศัยเทคโนโลยี่สมัยนี้แหละในการติดต่อกับแดนอย่างต่อเนื่อง

แดนเป็นอาจารย์ใหม่ที่ไฟแรงมากๆ ผมเรียนกับแดน หนึ่งเลคเชอร์ เรื่อง Human Rights Protection in Africa กับหนึ่งคอร์ส Humanitarian Law ครับ

เอาประวัติก่อน
  • แดนเพิ่งจบปริญญาเอกจากลุนด์เมื่อปีที่แล้วครับ อาทิตย์หน้าก็จะกลับมารับปริญญา พร้อมมาสอบวิทยานิพนธ์ผมด้วย
  • ที่มาลาวี แดนเป็นรองผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายของกองทัพมาลาวี
  • อดีตเจ้าหน้าที่งานฝ่ายให้คำปรึกษาทางกฎหมายให้กับการปฏิบัติการขององค์การสหประชาชาติในคองโก
  • เคยฝึกงานกับ Amnesty International in the UN Office in New York
  • เป็นนักวิจัยของ Danish Institute of Human Rights, Copenhagen
  • Marie Curie Researcher at the Grotius Centre of International Legal studies in the Hague, the Netherlands
  • Guest Researcher at the Nordic African Institute
  • Fellow at the Carr Center for Human Rights Policy, Harvard University
  • ผ่านการอบรมจากอีกหลายที่ เยอะมาก
แดนเป็นอาจารย์รุ่นใหม่ไฟแรงครับ แม้ว่าอยู่ถึงมาลาวี แต่ก็สามารถให้ความเห็นและคำแนะนำต่างๆ ให้กับผมดีมากๆ ถือว่าเป็นต้นแบบของอาจารย์ที่ดีในหลายด้านเลยทีเดียว โดยเฉพาะเรื่องทางวิชาการ

แดนทำให้ผมอยากศีกษาหาความรู้เพิ่มเติม เป็นต้นแบบด้านการแสวงหาองค์ความรู้อย่างต่อเนื่องและไม่หยุดนิ่งครับ

ว่าไป ผมคุยกะแดนน้อยกว่าเขียนอีเมลโต้ตอบกันเสียอีกแฮะๆๆๆ

Wednesday 19 May 2010

Human Rights

ในช่วงกว่าสองเดือนที่ผ่านมาคำว่าสิทธิมนุษยชนถูกหยิบยกขึ้นมาอ้างอิงและกล่าวถึงบ่อยครั้งกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย บ้างก็ว่าถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนบ้างหละ บ้างก็ว่าให้เคารพสิทธิมนุษยชนบ้างหละ

ผมไม่บังอาจนำปัญญาอันน้อยนิดของผมไปวิเคราะห์หรอกครับว่าใครผิด ใครละเมิดสิทธิมนุษยชนกันแน่ เพราะมันอาจจะนำไปสู่การวิวาทะกันไม่จบสิ้นเรื่อยไป

แต่ที่วันนี้อยากจะเขียนเรื่องนี้ก็เพราะว่าผมฉุกคิดเรื่องหนึ่งขึ้นมาได้ เลยอยากเอามาเขียนไว้เท่านั้นเอง คิดว่าหากใครผ่านมาอ่าน หรือเห็นก็น่าจะมีประเด็นให้คิดต่อยอดได้บ้างเท่านั้น

ไอ้สิทธิมนุษยชนเนี่ยะ มันคืออะไรหรือ? ตอบง่ายๆ ตามภาษาวิชาการ เขาก็ว่าสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ครับ หากจะดูตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแล้ว สิทธิมนุษยชนที่ได้รับการรับรองนั้นมีอยู่หลายประการครับ เช่น สิทธิในการมีชีวิต สิทธิในการมีเสรีภาพและความมั่นคงในชีวิตของคน สิทธิปลอดจากการถูกทรมาน เป็นต้น

แต่ไอ้สิ่งที่ผมอยากพูดคงไม่ใช่การมานั่งเล็คเชอร์ สาธยายให้ฟังเรื่องสิทธิมนุษยชนครับ ที่ผมอยากบอกก็คือคนทุกคนน่ะมีสิทธมนุษยชนเท่าเทียมกัน จะเตี้ย สูง ดำ ขาว แดง หรือ เหลือง ก็มีสิทธิเหล่านี้เหมือนกัน และมีหน้าที่ที่ต้องเคารพสิทธินี้ของคนอื่นๆ เช่นกัน

พอดีผมได้ฟังเรื่องราวจากหลายแหล่งมักอ้างว่า มีรัฐละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ชุมนุม ย้ำไปย้ำมาหลายครั้งหลายคราว หากแต่ไม่เคย หรืออาจจะเคยแต่ไม่ค่อยบ่อยที่มีการพูดเรื่องการที่ผู้ชุมนุมละเมิดสิทธินมุษยชนของประชาชนคนอื่นๆ โดยเฉพาะผู่ที่อาศัยใกล้เคียงบริเวณที่มีการชุมนุม คนเหล่านั้นถูกฆ่า ถูกทำร้ายร่างการ ถูกทำลายทรัพย์สิน หรือถูกพรากไปซึ่งสิทธิที่มีความมั่นคงในการดำรงชีวิตไปเสียหมดแล้ว

หลายคนอาจคิดก็ใช่ที่ผู้ชุมนุมก็กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนเหมือนกัน แต่ว่าหากจะเทียบกันแล้ว สิทธิของผู้ชุมนุมที่ถูกละเมิดมีจำนวนมากกว่า หากจะเทียบจำนวนของผู้ถูกละเมิดในฝั่งผู้ชุมนุมกับประชาชนทั่วไป

ผมเลยอยากตั้งข้อสังเกตสักนิดว่า

ขึ้นชื่อว่าสิทธิมนุษยชน คุณค่าของมันคือการมีอยู่และการไม่ถูกละเมิดซึ่งสิทธินี้ การละเมิดสิทธินมุษยชนของคนเพียงหนึ่งคน หากจะเทียบกับการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนหนึ่งร้อยคนแล้ว มันไม่ได้ต่างกันเลย

อย่าเอาปริมาณมาตัดสินคุณค่าของสิ่งนี้อีกเลย

เพราะเพียงหนึ่งสิทธิของหนึ่งคน หรือจะร้อยคน พันคน ก็คือสิทธิมนุษยชนเหมือนกัน ดังนั้นขึ้นชื่อว่าการละเมิดสิทธินมุษยชนของคนหนึ่งคน กับหนึ่งร้อยคน หรือพันคนก็หาได้ต่างกันในนัยไม่

Saturday 15 May 2010

รอคอย ลอยคอ

เทศกาลฝึกขันติธรรมอีกแล้ว

ผมเขียนวิทยานิพนธ์ส่งให้ที่ปรึกษาไปเกือบครึ่งเดือน ทุกอย่างยังเงียบ ไม่มีวี่แวว อีกสิบกว่าวันก็ต้องสอบแล้ว ยังไม่รู้ว่าจะลูกผีลูกคน แต่ความเงียบสงบยังสยบทุกความเคลื่อนไหว

ไม่มีเสียงสัญญานตอบรับใดๆ กลับมา

ได้แต่รอๆๆๆๆๆๆ

ส่วนที่ว่าวิทยานิพรธ์ของผมเนี่ยะ มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับการดำเนินคดีอดีตผู้นำเขมรแดงของกัมพูชาครับ ชื่อหัวข้อวิทยานิพนธ์ คือ "Is the Doctrine of Joint Criminal Enterprise a Legitimate Mode of Individual Criminal Liability in the Prosecution? - A Study on the Khmer Rouge Trials" ดูยากไปม๊ะ ฮ่าๆๆๆ

เดี๋ยวไว้เสร็จเรียบร้อยยังไงจะมาเล่าให้ฟังอีกที

Thursday 6 May 2010

Dumb & Dumber


หลังจากว่างสักพัก ก็มีเวลามานั่งดูหนังเก่า วันนี้ดูเรื่อง Dumb and Dumber เลยอยากเอาซาวด์แทรกซ์มาโพสไว้ เพราะเพลงนี้สำหรับผมแล้วมีความทรงจำดีๆ มากมาย โดยเฉพาะความทรงจำแต่สมัยที่ได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้

บางทีการใช้เวลากับตัวเองบ้างๆ เพียงการนั่งอยู่กับตัวเองนิ่งๆ สักพัก นึกถึงเรื่องราวที่ผ่านเข้ามาในชีวิตไม่เว้นแต่ละวันที่เราต้องจัดการ ช่างมากมายนัก

พักสักนิด ได้คิดสักหน่อย เราจะเห็นได้ว่าโลกนี้ยังมีมุมมองด้านที่สวยงามสำหรับทุกคนเสมอ อยู่ที่ว่าเราจะมองเห็นมันหรือไม่ต่างหาก



Sunday 25 April 2010

Genocide in Rwanda

รวันดา (Rwanda) เป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในทวีปแอฟริกา มีประชากรประมาณ 8 ล้านคน โดยเป็น ชาว Hutu ถึงร้อยละ85 ชาว Tutsi ร้อยละ 14 ที่เหลืออีกร้อยละ 1 เป็นชาว Batwa และชาว Pygmy

ชนวนความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในรวันดานี้ก็เป็นผลมาจากความเกลียดชังระหว่างของสองเชื้นชาติที่ฝังรากหยั่งลึกมาเป็นเวลายาวนานนับตั้งแต่โบราณแล้วคือ ความขัดแย้งระหว่างชาว Hutu และชาว Tutsi ภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่งสงบลงดินแดนรวันดารวมไปถึงบุรุนดี (Burundi) ที่อยู่ทางตอนใต้ของรวันดาก็ตกอยู่ภายใต้การปกครองของประเทศเบลเยียมตามมติขององค์การสันนิบาติชาติ

ในช่วงเวลาตั้งแต่ปีค.ศ.1924 ถึง ค.ศ.1962 ที่เบลเยียมปกครองรวันดา มีการส่งเสริมและสนับสนุนให้ชาว Tutsi ขึ้นมาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองดินแดนแห่งนี้ ทำให้ชาว Tutsi เริ่มมีการแสวงหาประโยชน์ในกับเชื้อชาติของตนและความต้องการที่จะเป็นเอกราชจากเบลเยี่ยม ทางรัฐบาล เบลเยียมจึงได้เปลี่ยนมาสนับสนุนชาว Hutu โดยหวังที่ให้ขึ้นมาเป็นผู้ปกครองประเทศแทน ไม่ว่าจะเป็นการเสนอให้โอกาสทางการเมืองและการศึกษาแกชาว Hutu ทำให้ชาว Tutsi เกิดความไม่พอใจเป็นอย่างมาก กระทั่งภายหลังจากที่รวันดาประกาศแยกตัวเป็นอิสระจากเบลเยียม ในปี ค.ศ.1962 รวันดามีประธานาธิบดีชาว Hutu คือ Gregoire Kayibanda สถานการณ์ทางการเมืองในช่วงนี้เรียกว่าเป็น “The First Republic” ได้เกิดการตอบโต้ (Repisal) ของชาว Hutu ต่อชาว Tutsi ที่อยู่ในรวันดา โดยการตอบโต้ดังกล่าวส่งผลให้ชาว Tutsi นับแสนต้องเสียชีวิต และถูกจำกัดสิทธิต่างๆ เงินและที่ดินของชาว Tutsi ก็ถูกริบเอามาเป็นของชาว Hutu ในช่วงที่ชาว Hutu ปกครองประเทศข้างฝ่าย Tutsi ก็ได้ร่วมกันจัดตั้งกองกำลังแนวร่วมรักชาติ (Rwanda Patriotic Front: RPF) ขึ้นมา ในอูกันดาเพื่อรอวันที่ชาว Tutsi จะกลับมามีอำนาจในรวันดาอีกครั้งหนึ่ง

ประธานาธิบดี Gregoire Kayibanda ได้ปกครองรวันดาเรื่อยมา จนกระทั่งในปี ค.ศ.1973 นายพล Juvenal Habyarimna ซึ่งเป็นชาว Hutu ได้ยึดอำนาจจากประธานาธิบดี Kayibanda และนำระบบเผด็จการทหารมาใช้ปกครองประเทศ ในช่วงนี้ถือว่าเป็น “The Second Republic” ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่าตลอดเวลาที่รัฐบาลเผด็จการทหารของนายพล Habyarimna ปกครองประเทศไม่ปรากฏว่าได้มีเหตุการณ์สังหารหมู่ระหว่างสองเชื้อชาติเกิดขึ้น แต่ในการปกครองประเทศนายพล Habyarimna ได้ปกครองประเทศโดยใช้นโยบายการเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบ (Policy of Systematic Discrimination) ต่อชาว Tutsi โดยนายพล Habyarimna มองว่าทุกพรรคการเมืองเป็นพรรคที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายยกเว้นเพียงแต่พรรคของตน และตลอดระยะเวลาที่ Habyarimna ปกครองประเทศนั้นมีชาว Tutsi ได้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆเป็นจำนวนที่น้อยมาก มีการห้ามมิให้ชาว Hutu สมรสกับชาว Tutsi และประชาชนทุกคนจะต้องพกบัตรประจำตัวที่ระบุเชื้อชาติไว้อย่างชัดแจ้งอยู่ด้วยเสมอ กระทั่งในปี ค.ศ.1990 ถึง ค.ศ.1993 รัฐบาลของนายพล Habyarimna ได้สังหารชาว Tutsi กว่า 2,000 คนด้วยเหตุผลที่อ้างว่าเป็นสมาชิกของ RPF

สถานการณ์ในรวันดาประทุขึ้นอย่างรุนแรงเมื่อปรากฏว่านายพล Habyarimna ถูกลอบสังหารโดยเครื่องบินถูกยิงตกโดยกองกำลังไม่ทราบฝ่าย เมื่อวันที่ 6 เมษายน ค.ศ.1994 แต่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของประธานาธิบดีเชื่อว่าเป็นการกระทำของ RPF จึงได้เริ่มมีการสังหารชาว Tutsi รวมไปถึงพวกที่มีแนวคิดตรงข้ามในทันที ในขณะที่ข้างฝ่ายกองกำลัง RPF ก็สบโอกาสในการบุกเข้าโจมตีกองกำลังฝ่าย Hutu ในเวลานั้นด้วยเช่นกัน ในช่วงเวลาสองสัปดาห์นับจากประธานาธิบดี Habyarimna เสียชีวิตมีชาว Tutsi ถูกสังหารไปอีกราวๆ 500,000 คน รวมตั้งแต่ ค.ศ.1990 ถึงค.ศ.1994 มีชาว Tutsi ถูกสังหารไป 800,000 – 850,000 คน อีกทั้งยังก่อให้เกิดคลื่นผู้อพยพที่ได้หลั่งไหลเข้าไปในประเทศใกล้เคียงไม่ว่าจะเป็น บุรุนดี แทนซาเนีย เคนยา อูกันดา อีกไม่ต่ำกว่า 2,000,000 คน

ความขัดแย้งดังกล่าวที่เกิดขึ้นได้ยุติลงด้วยชัยชนะของ RPF เหนือกองกำลังฝ่าย Hutu RPF จึงร่วมกับชาว Hutu หัวก้าวหน้าจัดตั้งรัฐบาลขึ้นปกครองประเทศเมื่อ กรกฎาคม ค.ศ.1994 และภายหลังจากความขัดแย้งยุติลง คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ได้มีข้อมติที่ 995 ตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศชั่วคราวขึ้นเพื่อพิจารณาความผิดของบรรดาผู้ที่มีส่วนในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาว Tutsi ในรวันดา

Crimes in the former Yugoslavia

อดีตประเทศยูโกสลาเวีย หรือที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่าสหพันธรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวีย (The Socialist Federal Republic of Yugoslavia: SFRY) เดิมเป็นประเทศที่กว้างใหญ่ที่สุดในคาบสมุทรบอลข่าน ประกอบไปด้วย 6 รัฐ คือ สโลเวเนีย (Slovenia) โครเอเทีย (Croatia) เซอร์เบีย (Serbia) บอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา (Bosnia-Hezegovina) มอนเตเนโก (Montenego)และมาซิโดเนีย (Macedonia) กับอีก 2 เขตปกครองตนเอง (autonomous region) คือโคโซโว (Kosovo) กับวอยโวดินา (Vojvodina)

ชนวนความขัดแย้งที่ก่อให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ขนานใหญ่ในดินแดนแห่งนี้ก็คือ ความแตกต่างทางชาติพันธุ์และศาสนา ที่แตกต่างกันออกไปเป็น 3 กลุ่มด้วยกันคือ ชาวเซิร์บซึ่งนับถือศาสนาคริสต์นิกายออโธดอกซ์ ชาวโครแอตซึ่งนับถือศาสนาคริสต์นิกายคาธอลิค และชาวสลาฟซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม ความขัดแย้งในดินแดนแถบนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่โบราณในสมัยที่อาณาจักรออตโตมันได้เข้ามาครอบครองเซอร์เบีย โดยชาวเซิร์บมีความรู้สึกว่าพวกตนตกเป็นเหยื่อความรุนแรงของชาวสลาฟและชาวโครแอตเรื่อยมา ดังเช่นในช่วงปี ค.ศ.1939 ได้ปรากฏว่ามีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวเซิร์บไปเป็นจำนวนมาก และในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองรัฐบาลหุ่นเชิดของนาซีเยอรมันในโครเอเทียก็ได้สังหารชาวเซิร์บไปอีกเป็นจำนวนนับแสนคน

ต่อมาเมื่อ จอมพลโจซิพ บรอส ติโต (Josip Broz Tito) ได้ขึ้นปกครองยูโกสลาเวียด้วยระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์ความขัดแย้งดังกล่าวก็ได้ลดน้อยลงไปใน แต่ภายหลังจากการถึงแก่ อสัญกรรมของจอมพลติโตในปี ค.ศ.1980 กอร์ปกับการล่มสลายของโซเวียต ในปี ค.ศ.1991 ส่งผลให้ความตึงเครียดของ 3 เชื้อชาติและศาสนาปะทุขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ยูโกสลาเวียได้ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างหนัก ทำให้สโลเวเนียและโครเอเทียซึ่งเป็นรัฐที่มีเศรษฐกิจดีและเป็นรัฐที่คอยเกื้อหนุนเศรษฐกิจโดยรวมของยูโกสลาเวีย มีความคิดที่จะแยกตัวออกเป็นอิสระเพื่อลดภาระทางเศรษฐกิจของตน ในขณะที่เซอร์เบียและมอนเตเนโกที่มีเศรษกิจที่ไม่ดีกลับมีความคิดที่ต้องการจะรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การสวนทางกันของความคิดดังกล่าวได้ขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ กอร์ปกับกระแสสิทธิมนุษยชนและสิทธิในการปกครองตนเองของระบบเสรีประชาธิปไตยได้หลั่งไหลเข้ามาในดินแดนแห่งนี้ ทำให้เกิดความแตกแยกในพรรคคอมมิวนิสต์ที่ปกครองยูโกสลาเวียอยู่ในขณะนั้นเสียอำนาจปกครองในโครเอเทีย บอสเนีย และมาซิโดเนียไป เป็นผลให้ในวันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ.1991 สโลเวเนีย และโครเอเทียได้ประกาศเอกราชจากยูโกสลาเวีย และต่อมาในวันที่ 8 กันยายน ค.ศ.1991 มาซิโดเนียก็ได้ประกาศเอกราชตาม

แต่เพียงสองวันนับจากการประกาศเอกราชของสโลเวเนียสงครามก็ประทุขึ้น โดยกองทัพประชาชนยูโกสลาฟ (Yugoslav People’s Army) ภายใต้การสั่งการของประธานาธิปดี สโลโบดัน มิโลเซวิค ได้เข้าโจมตีสโลเวเนีย สโลเวเนียจึงประกาศสงครามกับยูโกสลาเวีย เซอร์เบีย มอนเตเนโก โคโซโว และวอยโวดินา ซึ่งอยู่ภายใต้ควบคุมของเซอร์เบีย โดยในการทำสงครามนี้ก็เพื่อจุดมุ่งหมายในการแย่งชิงดินแดนให้มากที่สุด และจะได้นำดินแดนที่ชาวเซิร์บครอบครองอยู่อย่างกระจัดกระจายอยู่มารวมเข้าเป็นดินแดนเซอร์เบียประเทศแม่ เพื่อนำไปสู่การเป็น “The Greater Serbia”

ระหว่างการทำสงครามนั้นชาวเซอร์เบียได้นำเอานโยบาย “การชำระล้างเผ่าพันธุ์” (Ethnic Cleaning) มาใช้กับชาวสลาฟและชาวโครแอตในดินแดนโครเอเทีย โดยในการดำเนินนโยบายดังกล่าวชาวเซิร์บได้ขับไล่ชาวมุสลิม และกวาดต้อนไปกักขังในค่ายกักกัน และได้ทารุณกรรมต่างๆนาๆในค่ายกักกันนั้น ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายร่างกายชาวมุสลิมจนพิการ การสังหารด้วยวิธีการอันโหดร้าย เช่น การให้ชาวมุสลิมวิ่งหนีอย่างกระจัดกระจายแล้วยิงคนที่กำลังวิ่งหนีเหล่านั้นหรือการสังหารโดยการสุ่มเรียกชื่อ นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าได้มีการตั้งค่ายข่มขืนกระทำชำเรา (Rape Camp) ขึ้น เป็นเหตุให้มีเด็กหญิง และสตรีชาวมุสลิมถูกข่มขืนไปไม่ต่ำกว่า 60,000 คน โดยในจำนวนนี้บางรายถูกข่มขืนจนกระทั่งเสียชีวิต บ้างก็ถูกข่มขืนจนกระทั่งเห็นได้ว่าตั้งครรภ์ นอกจากนี้ในขณะที่ข่มขืนสตรีชาวมุสลิมยังได้มีการบันทึกภาพเพื่อทำเป็นภาพยนตร์ และให้สตรีนั้นๆสารภาพว่าได้ถูกข่มขืนจริง กระบวนการข่มขืนนี้เรียกว่า “Systematic Rape” เป็นเหตุให้สตรีมุสลิมกว่า 25,000 รายตั้งครรภ์ และทารกที่จะเกิดขึ้นนั้นจะไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมมุสลิม กลายเป็นเด็กที่ไม่เป็นที่ต้องการ (unwanted children) และก่อให้เกิดเป็นความด่างพร้อยทางเชื้อชาติ ซึ่งถือได้ว่าเป็นมาตรการที่การทำลายความบริสุทธิ์ทางเชื้อชาติและศาสนาที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง

ภายหลังจากเหตุการณ์สงบลง คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้มีข้อมติที่ 883 ให้จัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศชั่วคราวขึ้นเพื่อพิจารณาคดีต่อบุคคลที่ได้กระทำการอันเป็นการละเมิดต่อหลักสิทธิมนุษยชน และหลักกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศในดินแดนอดีตประเทศยูโกสลาเวียนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ค.ศ.1991 เป็นต้นมา ซึ่งการดำเนินคดีของศาล ยูโกสลาเวียนี้ยังคงดำเนินอยู่จนกระทั่งในปัจจุบัน

Genocide during WWII

สงครามโลกครั้งที่สองเป็นเหตุการณ์มหาวิปโยคที่ไม่อาจลบออกไปจากประวัติศาสตร์ของโลก และความทรงจำของผู้คนในโลกนี้ไปได้ เนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นสงครามที่มีความความรุนแรงซึ่งสั่นคลอนเสถียรภาพของโลกเป็นอย่างมาก ความสูญเสียและความเสียหายไม่ว่าจะต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินก็ตาม ล้วนแต่เกิดขึ้นอย่างมหาศาลทั่วทุกหัวระแหง นับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 30 เป็นมา จวบจนกระทั่งสิ้นสุดลงในช่วงกลางทศวรรษที่ 40 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองนั้น อาชญากรรมระหว่างประเทศจำนวนมากไม่ว่าจะเป็น อาชญากรรมต่อสันติภาพ อาชญากรรมสงคราม หรืออาชญากรรมต่อมนุษยชาติถูกก่อขึ้นอย่างเนืองๆ โดยท่ามกลางอาชญากรรมระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นเหล่านั้น เหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่งที่ไม่อาจไม่กล่าวถึง ก็คือ เหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในประเทศเยอรมนีและประเทศอื่นๆในทวีปยุโรป เช่น ประเทศอิตาลี ประเทศออสเตรีย ประเทศเช็คโกสโลวะเกีย ประเทศฮังการี หรือประเทศโรมาเนีย ในช่วง ค..1933-1945 ที่เรียกกันว่า “The Holocaust” ซึ่งจากเหตุการณ์นี้ส่งผลให้ชาวยิว และชนกลุ่มน้อยอื่นๆในยุโรป ไม่ว่าจะเป็น ชาวยิปซี หรือชาวสลาฟ เสียชีวิตไปไม่ต่ำกว่า 6 ล้านคน หรือคิดเป็นจำนวนร้อยละ 13 ของพลเรือนที่เสียชีวิตไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองซึ่งมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 46 ล้านคนทั่วโลก

The Holocaust
หรือเหตุการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์นี้ เริ่มต้นที่ประเทศเยอรมนี ตามนโยบายลัทธิต่อต้านยิว (anti-Semitism) ของพรรคนาซีเยอรมัน ภายใต้การนำของ อดอฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ซึ่งได้ขึ้นครองอำนาจเป็นผู้นำของประเทศเมื่อต้นเดือนมกราคม ค..1933 ทันทีที่ฮิตเลอร์ขึ้นสู่อำนาจก็ได้ดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวของพรรคในทันที โดยได้มีการออกกฎหมายยึดทรัพย์สินและเข้าควบคุมกิจการห้างร้านทั้งหมดที่เป็นของชาวยิว เจ้าหน้าที่ชาวยิวถูกปลดออกจากตำแหน่งทั้งหมด ในปีค..1935 ชาวยิวทั้งหมดในเยอรมนีถูกถอนสัญชาติเยอรมันกลายเป็นคนไร้สัญชาติ ถูกห้ามมิให้สมรสกับชาวเยอรมันเชื้อสายอื่นๆ และถูกจำกัดสิทธิในการเรียน สิทธิในการประกอบอาชีพ สิทธิในการประกอบธุรกิจ สิทธิในการครอบครองที่ดิน สิทธิในการใช้สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ตลอดจนสิทธิในการคบค้าสมาคมกับคนที่ไม่ใช่ยิว เป็นเหตุให้ชาวยิวถูกมองว่าไม่ใช่คน ถูกกดขี่ข่มเหงต่างๆนาๆ เด็กชายชาวยิวที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปจะถูกเกณฑ์ไปทำงานในโรงงานผลิตอาวุธ และเด็กชาวยิวที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไปต้องติดสัญลักษณ์รูปดาวแห่งดาวิด (Star of David) เพื่อแสดงให้รู้ว่าเป็นยิว อีกทั้งยังถูกตีกรอบทางสังคมและการดำรงชีวิตโดยถูกจำกัดให้อาศัยอยู่ในเฉพาะบริเวณที่จัดให้เป็นที่พักของชาวยิวและในค่ายกักกัน (Concentration camps) เท่านั้น


ชัยชนะของเยอรมนีในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่สอง ยังผลให้ไม่เพียงแต่ชาวยิวในเยอรมนีเท่านั้นที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ยังได้ขยายไปยังชาวยิวที่อยู่ประเทศอื่นๆในแถบยุโรปด้วย โดยทุกดินแดนที่กองทัพเยอรมนียาตราไป ก็จะมีการล้อมจับชาวยิว ชาวยิปซีและชาวสลาฟ มายิงจนเสียชีวิต และนำไปฝังรวมกันในหลุมขนาดใหญ่ หรือไม่ก็กวาดต้อนขึ้นไปอยู่รวมกันในรถบรรทุก และเอาควันไอเสียพ่นจนเสียชีวิต


ในวันที่
20 มกราคม ค..1942 บรรดาผู้นำนาซีได้ประชุมปรึกษาหารือกันเพื่อหาบทสรุปสุดท้ายสำหรับปัญหาชาวยิว (The final resolution of the Jewish question) ซึ่งผลจากการประชุมได้ข้อสรุปว่าจะให้มีการกวาดต้านชาวยิวจากทุกที่ที่นาซีครอบครองไปยังค่ายกักกันทางตะวันออก เพื่อปฏิบัติตามบทสรุปสุดท้ายคือ การประหารชีวิต การบังคับให้ทำงานอย่างหนักภายใต้ภาวะที่ขาดแคลนอาหารโดยวิธีการสังหารที่ทำลายล้างชาวยิวไปมากที่สุดก็คือ การรมแก๊สพิษ (gassing extermination) โดยที่เหยื่อไม่รู้ตัว การสังหารโดยวิธีการนี้ได้คร่าชีวิตชาวยิวที่ค่ายกักกัน Auchwitz และค่ายกักกันอื่นๆไปเกือบ 4 ล้านคน


สงครามโลกครั้งที่สองดำเนินมาจนกระทั่งถึงวันที่
8 พฤษภาคม ค..1945 ก็สิ้นสุดลงด้วยชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตร และภายหลังจากนั้นฝ่ายสัมพันธมิตรได้ตั้งศาลทหารระหว่างประเทศ ณ นูเรมเบิร์ก (International Military Tribunal at Nuremberg) และศาลตามเขตที่เยอรมนีครอบครอง (zonal tribunal) ขึ้นมาพิจารณาคดีบรรดาผู้นำนาซีและสมุนที่ได้ก่ออาชญากรรมระหว่างประเทศขึ้นในช่วงสงคราม อนึ่งนอกเหนือไปจากการดำเนินคดีของศาลทหารระหว่างประเทศที่ตั้งขึ้นแล้วในหลายรัฐยังได้ศาลภายในมีการปรับใช้เขตอำนาจดำเนินคดีและลงโทษผู้กระทำความผิดในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย ซึ่งในการดำเนินคดีโดยศาลภายในเหล่านั้นก็รวมถึงกรณีที่ศาลปรับใช้เขตอำนาจรัฐสากลด้วย ดังเช่น การดำเนินคดี Adolf Eichmann และ John Demjanjuk ของศาลอิสราเอล การดำเนินคดี Imre Finta ของศาลแคนาดา หรือการดำเนินคดี Anthony Sawoniuk ของศาลอังกฤษ เป็นต้น

Saturday 24 April 2010

Waiting

การรอคอย เป็นเรื่องที่หลายคนอาจจะทำใจยากในการที่จะเผชิญกับมัน แต่สำหรับผม ผมคิดว่าการรอคอยเป็นหนึ่งด่านสำคัญที่จะฝึกความอดทนของเรา ยิ่งถ้าการรอคอยนั้นมันอยู่นอกเหนือการควบคุมของเราแล้ว การจะไปเร่ง หรือบังคับให้การรอคอยสิ้นสุดก็คงยาก มันคงอยู่นอกเหนือการบังคับ ควบคุมของเรา

ดังนั้น การรอคอยคงเป็นด่านวัดขันติธรรมเป็นแน่แท้

ผมฝึกการรอคอยมาตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่วัยเยาว์สิ่งที่ฝึกธรรมะเรื่องความอดทนและใจเย็นให้ผมกลับเป็นอกุศลกรรมเสียนี่ ก็คือ การตกปลา จับแมลงปอ จับตั๊กแตน จับแมลงทับ อกุศลล้วนๆ

แต่อย่างไรก็ดี อกุศลกรรมเหล่านี้กลับสร้างภูมิคุ้มกันการรอคอยให้กับผมอย่างดี ผมสามารถนั่งรอคอยโดยไม่รู้สึกเป็นทุกข์เป็นร้อนได้นานมากมายโดยสบายๆ

และการไปเที่ยวครั้งล่าสุดผมก็ได้พิสูจน์ขันติธรรมข้อนี้อีกครา

  • การรอคอยครั้งแรกเริ่มการการที่เที่ยวบินจาก Katowice, Poland เพื่อไปยัง Brussels, Belgium ถูกเลื่อนเวลาออกไปครึ่งชั่วโมง ก่อนที่จะประกาศว่าสนามบินที่เบลเยี่ยมปิด แลัเครื่องจะต้องบินไปลงที่บอนน์ ในเยอรมนีแทน


ผู้คนจอกแจกจอแจ เพราะต่างก็ไม่เข้าใจเหตุผลของการเปลี่ยนจุดหมายการบินกระทันหัน คงเพียงแต่ทราบว่ามัปัญหาเรื่องการบิน ดังนั้นเกือบสองชั่วโมง ที่ผมต้องยืนรอเพื่อขึ้นเครื่อง จนกว่าเครื่องจะขึ้น

  • การรอคอยเพื่อเดินทางจาก Brussels, Belgium ไปยัง Amsterdam, Netherlands อย่างแรกคือด้วยเพราะเครื่องบินถูกระงับหมด ดังนั้นช่องทางง่ายและถูก คือการนั่งรถบัส ผมเดินทางไปจองตั๋ว อย่างแรกคือต้องรอคิวนานมาก เพราะผู้คนต่างตกค้างมากมาย


ผมกะจะเดินทางรอบตอน 11 โมง แต่ก็ได้ตั๋วรอบบ่ายโมง ดังนั้นต้องนั่งรอเกือบ สามชั่วโมง

แต่บ่ายโมงก็แล้ว บ่ายสองก็แล้ว ยังไม่มีวี่แววของรถเลย ผู้คนเริ่มเบื่อ ทยอยกันออกมานอนตากแดดที่ลานริมถนน


เืกือบบ่ายสาม กว่ารถจะมา สรุปผมต้องนั่งรอบัสกว่า ห้าชั่วโมง

  • การรอคอยอีกครั้งคือการซื้อตั๋วรถบัสจากอัมสเตอร์ดัมเพื่อกลับลุนด์

ผมเข้าคิวกว่าชั่วโมงกว่าจะถึงเคาท์เตอร์ขายตั๋ว


รอกว่าอีกสองชั่วโมง เพื่อเช็คอิน









และในที่สุดแล้วใช้เวลากว่า 18 ชั่วโมงในการเดินทางกลับลุนด์

เหนื่อยมาก

พอกันทีกับการฝึกขันติธรรม










Friday 23 April 2010

Auschwitz Concentration Camp

เป้าหมายหลักอย่างหนึ่งของผมในการเดินทางมาที่โปแลนด์ ก็คือ การได้มาที่ค่ายกักกันนาซี สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง "Auschwitz and Birkenau"

ตั้งแต่เรียนปริญญาโทที่เมืองไทย ผมเรียนเรื่องราวเกี่ยวกับสงครามโลก และเรื่องค่าย Auschwitz มานาน มากมาย แถมยังทำวิทยานิพนธ์ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ Auschwitz อีกด้วย แถมตอนนี้วิทยานิพนธ์ของผมมันก็ยังอ้างอิงถึงอาชญากรรมที่ Auschwitz เหมือนเช่นเคย ดังนั้นการเดินทางไป Auschwitz สักครั้ง คงเป็นเรื่องที่สมควรอย่างยิ่งสำหรับผม

ค่าย Auschwitz อยู่ที่เมือง Oświęcim ห่างออกไปประมาณ 70 กม. จากเมืองคาร์คาวครับ เป็นค่ายกักกันที่เยอรมันสร้างขึ้นเมื่อช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และที่นี่เป็นค่ายกักกันที่ใหญ่ที่สุด และที่ที่สังหารผู้คนมากที่สุดกว่าหนึ่งล้านคน

Auschwitz มีอยู่สามส่วน Auschwitz I, Auschwitz II: Birkenau and Auschwitz III: Moniwitz โดยมีวัตถุประสงค์ในการกักกันชาวยิว ยิปซี โปล์ เป็นหลัก

หลังจากที่ถูกส่งตัวมาที่ Auschwitz บรรดาเหยื่อจะถูกแยกออกเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มชายที่สามารถใช้แรงงานได้ กับ หญิงและเด็ก ซึ่งกลุ่มนี้จะถูกส่งไปยัง Gas Chamber เพื่อสังหารทิ้ง

แต่ก่อนสังหาร บรรดาเหยื่อโดยเฉพาะผู้หญิงจะถูกโกนผมออกทั้งหมด ซึ่งผมนี้จะนำไปทอเป็นผ้า เพื่อตัดเย็บ หรือทอเป็นถุงเท้า จากนั้นก็จะถูกต้อนเข้า Gas Chamber เพื่ออาบน้ำ ก่อนที่ผู้คุมจะนำ Cyclone B ซึ่งเป็นสารที่จะแปลสภาพเป็นก๊าซพิษ เมื่ออยู่ที่อุณหภูมิ 26 องศาขึ้นไป ใส่เข้าด้านบนของ Gas Chamber

ภายในเวลา 20 นาที ผู้คนกว่าสองพันคนก็จะตาย และซากศพก็จะถูกโกยออกมาทิ้ง และเผาทำลาย

แต่อย่างไรก็ดีบรรดาเหยื่อที่ Auschwitz จำนวนมากกลับตายลงเพราะเนื่องจากการขาดอาหาร เพราะทุกคนต้องทำงานตลอดเวลากว่า 19 ชม. ต่อวัน แต่อาหารที่ได้กินกลับมีเพียงน้อยนิด และขาดคุณค่า กระทั่งบางมื้อเป็นการกินเพียงหญ้าในน้ำ เท่านั้น

ภายในค่าย Auschwitz ผมได้เข้าไปดูสภาพอาคาร ที่พัก และที่สังหารของเหยื่อ ที่ถูกกักกันที่นี่

ประสบการณ์ครั้งนี้จะยังจดจำ และเป็นแรงผลักดันให้ผมเดินตามเส้นทางที่ผมศึกษาต่อไป


the Polish President's funeral





ก่อนที่ผมจะเดินทางไปโปแลนด์เพียงวันเดียวเท่านั้น ประธานาธิบดีของประเทศโปแลนด์ President Lech Kaczynski ได้ประสบอุบัติเหตุทางเครื่องบินเสียชีวิตที่ประเทศรัสเซีย ดังนั้นในช่วงเวลานั้น ผู้คนในประเทศต่างก็กำลังเศร้าโศก เพราะประธานาธิบดีท่านนี้เป็นที่รักและเคารพอย่างมากสำหรับคนโปลิช





ไปไหมมาไหนก็มีแต่คนใส่ชุดดำไว้ทุกข์ ไม่ว่่าจะเป็นที่วอร์ซอร์ หรือที่คาร์คาว
ครั้งนี้ผมก็เลยได้ภาพในพิธีไว้อาลัยประธานาธิบดีโปแลนด์มามากทีเดียว

ก็ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของประเทศโปแลนด์ ซึ่งประจวบเหมาะเป็นเวลาเดียวกับที่ผมเดินทางมาประเทศนี้













แหม ก็ประธานาธิบดีจะตายกันทุกวันเสียเมื่อไหร่เนอะ

Wednesday 21 April 2010

I am back!

กลับมาแล้วครับ จากการเดินทางที่ทุลักทุเล และมีปัญหาต้องแก้ไม่เว้นแต่ละวัน แต่ที่สำคัญผมก็เป็นหนึ่งคนที่ต้องผจญกับปัญหาควันไฟจากภูเขาไฟที่ระเบิดในประเทศไอซ์แลนด์

การเดินทางจากมาลเมอไปยังวอร์ซอร์โดยเครื่องบินดูแลราบเรียบสะดวกสะบายดีครับ ใช้เวลาไม่นานก็ไปถึงกรุงวอร์ซอร์ ประเทศโปแลนด์

จากนั้นก็นั่งรถไฟที่ค่อนข้างต่ำกว่ามาตรฐานไปยังคราคาว เมืองมรดกโลก เดินเที่ยวในเมือง ไปเหมืองเกลือ และไปยังค่ายกักกันนาซี Auschwitz

การเดินทางเริ่มทุลักทุเล เมื่อเครื่องจากคาโตวิช ไปยังบรัสเซลเริ่มเลื่อนเวลา และก็ประกาศแจ้งว่าสนามบินที่บรัสเซลส์ปิด ทำให้เครื่องต้องบินไปลงที่บอนน์ เยอรมนี จากนั้นก็ต้องนั่งบัสจากบอนน์ไปยังบรัสเซลส์

จากบรัสเซลส์ ผมต้องนั่งบัสไปยังอัมสเตอร์ดัม ท่ามกลางผู้คนที่ตกเครื่องมากมาย

ที่อัมสเตอร์ดัม ผมได้ไปชมสวนทิวลิปที่คูเคนฮอฟ ไปบ้านแอน แฟรงค์ red-light area แล้วก็ต้องรีบจัดการเรื่องการเดินทางต่อ เพราะเที่ยวบินกลับถูกยกเลิก

ท่ามกลางผู้คนมากมายที่หน้าออฟฟิซของยูโรไลน์ส ผมต้องพยายามหารถบัสกลับมายังลุนด์ให้ได้ ในที่สุดก็ได้ตั๋วบัสมาครับ

การเดินทางกลัยมาลุนด์ใช้เวลาค่อนข้างนาน เพราะผมออกจากที่พักที่อัมสเตอร์ดัมตั้งแต่สามทุ่มครึ่ง นั่งเมโทรมาเช็คอิน บัสออกประมาณห้าทุ่มครึ่งจากอัมเตอร์ดัม มาถึงฮัมบวร์กตอนหกโมงเช้า

ออกจากฮัมบวร์กแปดโมง มาขึ้นเรือสแกนดิก เพื่อข้ามไปยังเดนมาร์ก แล้วบัสแล่นต่อไปยังโคเปนเฮเกน ถึงตอนบ่ายโมง จากโคเปนเฮเกน ผมนั่งรถไฟต่อมาลุนด์ แล้วเดินกลับมาห้อง

ผมมาถึงห้องก็เกือบบ่ายสองโมงครึงแล้วครับ สรุปแล้วการเดินทางกลับมาของผมใช้เวลาไปเกือบ 17 ชั่วโมง

เหนื่อยมากๆ แต่ก็มีเรื่องราวและภาพจำมากมาย ผมจะค่อยๆ ทยอยเล่าแล้วกันนะครับ แต่ตอนนี้คงต้องขอเวลาพัก และปั่นธีซิสก่อนนะครับ

Friday 9 April 2010

The new journey is coming

ห่างหายจากการเดินทางไปท่องเที่ยวมาสักพัก จะว่าไปก็ไม่นานเท่าไหร่ เพราะหลังจากกลับมาจากฝรั่งเศส ก็ได้ไปเที่ยวใกล้ๆ แถวนี้ ทั้ง Bjärred และ Göteborg แต่มันก็เป็นเพียงทริปสั้นๆ เท่านั้นครับ


การเดินทางครั้งใหม่ของผมกำลังจะเริ่มขึ้นในวันจันทร์ที่จะถึงนี้


ตามแผนการเดินทางผมจะออกจาก Lund ไปยัง Malmö เพื่อโดยสารเครื่องบินของ WizzAir ไปยัง Warsaw, Poland แล้วก็นั่งรถไฟข้ามคืนไปเช้าที่ Krakow, Poland จากนั้นก็จะอยู่ที่นี่สองวัน เพื่อไปยังค่ายกักกันนาซี Auschwitz

จากนั้นจะเดินทางต่อไปยังเมือง Katowice, Poland เพื่อไปต่อเครื่องบินไปยัง Brussels, Belgium ต่อด้วยนั่งรถไฟไปเที่ยว Luxembourg City, Luxembourg

ก่อนจะมาจบท้ายด้วยการนั่งรถไฟมายัง Amsterdam, The Netherlands เพื่อมาชมทิวลิปที่ Keukenhof

แล้วจึงนั่งเครื่องจากอัมเตอร์ดัมกลับมาลุนด์


การเดินทางครั้งนี้จะมีเรื่องราวอะไรบ้างไว้ว่างๆ กลับมาจะมาทยอยเล่าให้ฟังครับ

Monday 5 April 2010

Glad Påsk!

สวัสดีครับ ช่วงนี้เป็นวันอีสเตอร์ครับ อย่างแรกก็สุขสันต์วันอีสเตอร์นะครับ

ปีนี้ก็เป็นปีที่สองแล้วที่ผมฉลองอีสเตอร์ที่ต่างแดน แต่เอาจริงๆ แล้วปีที่แล้วแทบไม่ได้ฉลองอะไรเลย ก็แค่เป็นช่วงวันหยุดไม่มีเรียนเท่านั้น เพราะผมไม่มีความรู้อะไรเลยเกี่ยวกับเทศกาลอีสเตอร์ รู้แต่ว่ามันต้องเกี่ยวกับไข่น่ะครับ

แต่ปีนี้แตกต่างจากปีที่แล้ว เพราะว่าได้ไปฉลองอีสเตอร์ที่บ้านพี่เจี๊ยบ พี่สาวผู้แสนดีแห่งลุนด์

งานนี้ก็เลยเหมือนทุกครั้งครับที่จะประกอบไปด้วยอาหารหลากหลายให้กินกัน


























กินจนอิ่มมากๆๆๆ ต้องขอบคุณพี่เจี๊ยบมา ณ โอกาสนี้ครับ

Tuesday 23 March 2010

Legitimacy II

ได้อ่านคอมเมนต์ของเพื่อนๆ เรื่องความชอบธรรมแล้ว ก็เลยคิดเห็นด้วยในหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องราวในประเทศไทย ประเด็นของการชอบด้วยกฎหมายถูกหยิบยกขึ้นมาบ่อยครั้ง จนเป็นชนวนที่นำไปสู่ความขัดแย้งในสังคมอย่างไม่สิ้นสุด

บางทีการศึกษาเรื่อง legality กับ legitimacy อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม อาจนำไปสู่ทางออกที่น่าสนใจทีเดียว โดยเฉพาะเรื่องที่ว่า "It is illegal, but still legitimate"

เอาเป็นว่าช่วงที่นั่งจับเจ่าเขียนไปเนี่ยะ จะลองเอาเรื่องนี้มาปรับใช้กับเหตุการณ์ในประเทศไทยดู แล้วจะลองมาเขียนบทสรุปให้อ่านกันอีกครั้งละกัน ถ้าไม่จมกองหนังสือตายไปเสียก่อน ฮ่าๆๆๆ

Legitimacy

ตอนนี้ไม่ค่อยได้เข้ามาเขียนอะไรเลยครับ เพราะมัวแต่ขลุกอยู่กับการทำวิทยานิพนธ์ ซึ่งตอนแรกก็ว่าไม่น่าจะหนักมาก เพราะว่าใช้เวลาเตรียมตัว และเตรียมข้อมูลมานานแล้ว แถมเรื่องที่ทำเนี่ยะ ก็ได้หยิบเอาประเด็นย่อยๆ ไปทำเปเปอร์บ้างแล้ว เพียงแค่เรียงร้อยเข้ากัน เพิ่มข้อมูลอัพเดทเสียหน่อยก็เสร็จแล้ว กำหนดเขาให้สอบเดือนพฤษภาคม โอ้วๆๆๆๆ ไม่น่าจะต้องใช้เวลานานขนาดนั้น เมษาก็สอบได้แล้ว ฮ่าๆๆๆๆๆ


เวลาผ่านมาสักพัก เรื่องที่คิดว่าง่ายเริ่มยากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะประเด็นของวิยานิพนธ์ ที่ยิ่งศึกษาไปเรื่อยๆ เริ่มเห็นได้ว่าไอ้ประเด็นที่ผมเลือกเขียนเนี่ยะ มันเริ่มยุ่งยากขึ้นเรื่องๆ จนมันน่าจะไปทำเป็นปริญญาเอกแล้ว


จากที่จะเอาเรื่องง่ายๆ เป็นรูปธรรม จับต้องได้ง่ายๆ กลับกลายตรงกันข้ามไปเสีย


เดิมผมตั้งใจจะเขียนเรื่องหลักความรับผิดที่เรียกว่า Joint Criminal Enterprise ในศาลเขมรแดง (The Extraordinary Chambers in the Court of Cambodia) เพราะมันชัดๆ อยู่แล้วว่าการเอามาใช้ของศาลเนี่ยะ มันไม่ชอบด้วยกฎหมาย โอ้ว เจอบทสรุปแบบนี้สบายมาก


และแล้วเวลาแห่งการพลิกผันก็มาถึง เนื่องจากคำเพียงสองคำ คือ legality and legitimacy (ชอบด้วยกฎหมาย กับชอบธรรม)


จากเดิมผมเพียงพิสูจน์ว่าเรื่องนี้มันชอบด้วยกฏหมายหรือไม่ (ซึ่งได้คำตอบแล้ว) ยื่งพอศึกษาลึกลงไปเรื่อยๆ กลับเริ่มเห็นแววปริญญาเอกเลย เพราะประเด็นของเรื่องมันมีนัยทางการเมืองเข้ามาด้วย ดังนั้นจากเรื่องชอบด้วยกฎหมาย กลับถูกแทนที่ด้วยความชอบธรรม


หลายคนคงเริ่มงง ว่าแล้วมันแตกต่างกันยังไง ง่ายๆ ครับ ถ้าเป็นทาง legal sense ถ้าเรื่องนั้นๆ ขัดกฎหมายก็ illegally ถ้าอันไหนไม่ขัดกฎหมายก็จะ legally ทีนี้ได้เรื่องที่ผมทำมันต้องพอสูจน์ สามเรื่อง ผลออกมาว่าสองในสามกรณีศาลสามารถใช้ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ส่วนอีกหนึ่งส่วนหากศาลใช้แล้วมันไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นหายนะจึงมาเยือน เพราะผมต้องสรุปให้ได้ว่าศาลจะใช้หรือไม่ใช้ ????


ดังนั้นประเด็นจากเดิมเรื่องว่าชอบด้วยกฎหมาย ก็ไหลไปกลายเป็นเรื่องชอบธรรม (Legitimacy) เพราะว่าในบางกรณีแม้ว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่ว่ามันชอบธรรมที่จะใช้


หายนะที่ผมว่าก็คือ ผมต้องเพิ่มเนื้อหาเรื่อง legitimacy เข้ามาในวิทยานิพนธ์ ซึ่งมันนามธรรมมาก แถมมีเอกสารต้องอ่านเพิ่มอีกกว่า 500 หน้า เฉพาะเรื่อง legitimacy ตายๆๆๆๆ


ถ้าทำเสร็จสงสัยจะกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้วย Legitimacy 555+

Monday 15 March 2010

Princess Diana's Tunnel@Paris

เมื่อ 13 ปีที่แล้วเหตุการณ์หนึ่งที่ทุกคนน่าจะยังจำกันได้ ก็คือการสิ้นพระชมน์ของเจ้าหญิงไดอาน่า ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส


การมาปารีสในครั้งนี้ของผมก็เลยได้ไปที่อุโมงที่เกิดเหตุนี้ เพื่อรำลึกถึงเจ้าหญิงไดอาน่าด้วย ตอนแรกนึกว่าจะเป็นอุโมงใหญ่อยู่ไกลเมือง ที่ไหนได้เป็นอุโมงค์รถลอดแยกไม่ใหญ่ ไม่ยาว ไม่โค้ง และไม่น่าอันตราย อยู่กลางเมืองปารีสเลย ตรงกันข้ามเยื้องๆ กับหอไอเฟลครับ









ที่บริเวณด้านบนอุโมงค์มีสัญลักษณ์คบไฟสีทองอยู่ แต่มันไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเจ้าหญิงไดอาน่าเลย แต่ที่ทำำให้เรารู้ได้ว่ามาไม่ผิดอุโมงค์ ก็คือข้อความระลึกถึงเจ้าหญิงไดอาน่าที่ถูกเขียนอยู่ตามขอบด้านบนอุโมงค์น่ะครับ แต่อ่านไปๆ มาๆ ปาะดุดตรงที่ไหงมีข้อความ “RIP, Michael Jackson” ด้วยฟะ ฮ่าๆๆๆ




ก่อนกลับได้นั่งรถลอดอุโมงค์เจ้ากรรมมาด้วย ดูซิว่ามันไม่ได้ใหญ่เลย สั้น ไม่โค้งมากมาย และดูปลอดภัยกว่าอุโมงค์ลอดแยกดินแดงบ้านเราอีก 555




















ดังนั้นใครได้มาปารีสครั้งหน้า อย่าลืมไปรำลึกถึง Princess Diana, Princess of Wales กันนะครับ

Statue of Liberty in Paris



เมื่อเราเอ่ยถึง เทพีเสรีภาพ (Statue of Liberty) เราก็คงต้องนึกถึงนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งอนุสาวรีย์นี้ออกแบบโดยเฟรเดรีค โอกุสต์ บาร์โทลดี โครงร่างเหล็กออกแบบโดย เออแชน วียอเลต์-เลอ-ดุค และกุสตาฟ ไอเฟล ซึ่งเป็นผู้ออกแบบหอไอเฟล ในกรุงปารีสประเทศฝรั่่งเศสมอบเทพีเสรีภาพเป็นของขวัญให้แก่สหรัฐอเมริกา

แต่ที่ผมจะบอกก็คือ หากมาที่ปารีส อีกสิ่งที่เราน่าจะไปดูให้เห็นก็คือเทพีเสรีภาพ ตัวต้นแบบของฝรั่งเศสที่สร้้างขึ้น เป็นต้นแบบของการก่อสร้างตัวใหญ่ที่ตั้งอยู่ที่นิวยอร์คไงครับ


แต่การจะชมเพพีเสรีภาพต้นแบบนี้อาจจะยากสักหน่อย เพราะถ้าอยากเห็นชัดก็นั่งเรือชมก็ได้ แต่ผมไม่มีเวลา ได้แค่นั่งรถผ่านครับ เลยได้ภาพไกลมาอย่างที่เห็น ภาพใกล้เลยต้นพึ่งวิกิพีเดียวไปก่อนครับ

Wednesday 10 March 2010

Tour de Eiffel

กลับมาเรื่องของปารีสกันสักหน่อย กะว่าจะมาเขียนย่อยๆ เพื่อให้จบเรื่องของปารีส แต่ก็ไม่ค่อยว่างเข้ามาเขียนเลย


วันนี้มีโอกาสดีก็เลยกะว่าจะมาเขียนเรื่องราวของหอไอเฟล หนึ่งในแลนด์มาร์กของกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

หอไอเฟลเนี่ยะถูกสร้างขึ้นมาเพื่องาน World fair ตั้งแต่ปี 1889 สะระตะแล้วก็มีอายุร้อยกว่าปีแล้ว โดยแรกๆ หลักการออกแบบของนาย Gustave Eiffel เนี่ยะ พอสร้างเสร็จประชาชนก็ไม่ค่อยพอใจเท่าไหร่ เพราะมันเหมือนเอาเศษเหล็กมาต่อๆ หันขึ้นไป ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร พอต่อมาถึงได้เอามาใช้ประโยชน์ด้วยการสื่อสารโทรคมนาคม แถมปัจจับันผมคิดว่าประโยชน์หลักของหอไอเฟลคงจะเป็นการท่องเที่ยวนี่แหละ


สำหรับการมาปารีส ไม่ว่าคุณจะอยู่ตรวไหน คุณก็จะมองเห็นหอไอเฟลเสมอ ดังนั้นหากมาปารีส การจะดูหอไอเฟลให้ครบถ้วยทุกมุมนั้น เราอาจต้องเดินทางไปหลายที่เสียหน่อย วันนี้ผมเลยลองเอามาไล่ ให้ดู














มุมจากสะพาน Pont d'lena










มองจากหน้าพิพิธภัณฑ์ลูฟร์









มองจากบนยอด Arc de Triomphe









มองจากลานคองคอร์ด














มองจากEcole Militaire














มองจากลานด้านหน้าฝั่งแม่น้ำแซน














มองจาก Trocadero














มองจากสวน Champ de Mars













มองจากเรือขณะล่องแม่น้ำแซน


เท่าที่ลองไล่มาดูเนี่ยะ เสน่ห์ของหอไอเฟลบางทีมีทันก็ขึ้นอยู่กับโอกาส อากาศ เวลา และสถานที่จริงๆ

Sunday 7 March 2010

Corridor party

ตั้งแต่เข้ามาอยู่ที่คอร์ริดอร์นี้น่ะ ยังไม่เคยเข้าร่วมคอร์ริดอร์ปาร์ตี้เสียที ครั้งนี้ก็เลยหนีไม่รอดต้องเข้าร่วมกับทุกคนเสียหน่อย


ไอ้ปาร์ตี้เนี่ยะ ทุกคนตกลงกันตั้งแต่เมื่อครั้งผมกลับไปเมืองไทย ดังนั้นหน้าที่ของผมคือแค่รับทราบและปฏิบัติตามเท่านั้น

กลับจากเมืองไทยมา ก็แค่เจอกระดาษแปะเอาไว้ในครัว ว่าจะจัดคอร์ริดอร์ปาร์ตี้ วันที่ 6 มีนาคม 2553

เอาแล้ว แล้วมันต้องทำต้องเตรียมตัวกันบ้างล่ะนี่


ที่นี้ก็เลยต้องนั่งคิดเมื่อครั้งที่แล้ว จำได้ว่าผมกลับมา เจอว่ามีคนนั่งกินเหล้าเบียร์ในครัว บ้าง ในห้องบ้าง ที่สำคัญห้องทุกห้องยกเว้นผม (เพราะเพิ่งกลับมา) ถูกเปิดประตู แล้วแต่ละห้องก็มีคนนั่งไปหมด เลยคิดว่าเอาแล้ว ตายหละ ไอ้คอร์ริดอร์ปาร์ตี้ของสวีดิช เนี่ยะมันจะเหมือนแบบไทยหรือเปล่า เพราะนั่นน่ะแค่กินแล้วก็เม้าท์เท่านั้นเป็นพอ เม้าท์ไม่จบไม่สิ้น


เมื่อวานก่อน ความคืบหน้าก็มาครับ มีกระดาษแปะเพิ่มในครัวว่า สำหรับปาร์ตี้ ทุกคนทำอาหารมากินกัน และที่สำคัญมันแจ้งว่า ให้ทุกคนเตรียมเครื่องดื่ม ไว้ด้วย เพราะว่าจะมี "Tour de Chamber" ??????


ผมแจ้งไปว่าผมจะทำ Noodle Spicy Salad หรือง่ายๆ บ้านเราคือ "ยำมาม่า" 5555+


วันนี้ผมก็ออกไปทำยำมาม่าครับ ตอนแรกว่าจะใส่กุ้งด้วย แต่เอาเข้าจริงเกิดเสียดาย เลยใส่ไปแค่หมูสับกับไส้กรอกไก่ เกิดอาการเสียดายขึ้นมาน่ะครับ



เมนูอื่นๆ เอมิลี่ ทำเกี๊ยวซ่าครับ หรือที่นี่เรียกว่า Fried Dumpling กับหมูผัดเปรี้ยวหวาน พร้อมชาไข่มุกไต้หวัน อิอิอิ


เอมม่า ทำหลายอย่าง เริ่มจากมันฝรั่งต้ม ปลาแฮริ่งทั้งแบบสดไม่ผสมอะไร แบบผสมมัสตาร์ด แบบผสมเครื่องแกง ซึ่งเคยได้ยินสรรพคุณมาเหมือนกันว่ามันเหม็นคาวมาก กับการกินแฮริ่งสดๆ และตบท้ายด้วยเค้กช็อกโกแลต พร้อมวิปครีมและซอสราสเบอร์รี่



พอได้เวลาเสิร์ฟเป็นไปตามคาด บรรดาสวีดิช เหงื่อตกกับยำมาม่าของผมเป็นแถบ เรียกว่าขอทิชชูกันใหญ่ ดีแระให้มันเหงื่อออกกันบ้าง ไอ้ผมก็ดันลืม เพราะดันทำรสชาดซะไทยจ๋าเลย ฮ่าๆๆๆ

อาหารต่างๆ ถูกลำเลียงออกมา โดยเมื่อมาถึงแฮริ่งมมาบอกให้ผมลองอันเป็นแฮริ่งสดๆ โอ้วว สุดยอดคาวเลย แบบใส่ในน้ำมัน คาวมาก แถมพอกินเสร็จต้องกระดกเหล้าตาม แต่แฮริ่งในมัสตาร์ด กับเครื่องแกง รสชาดโอเค ครับ



หลังกาแฟ และขนม เวลาของ Tour de Chamber ก็เริ่มขึ้น เอมม่าอธิบายว่า เป็นธรรมเนียมที่ทุกคนในคอร์ริดอร์จะเข้าไปในห้องของทุกคนทีละห้อง เพื่อไปนั่งเล่นในแต่ละห้อง ส่วนเข้าของห้องก็จะเตรียม Welcome drink ไว้ให้กับทุกคน

โอ้วววว ไม่นะ ผมไม่ชอบให้ใครมาอยู่ในห้อง ยิ่งบรรดาพวกในคอร์ริดอร์ด้วยแล้ว ไม่อยากเลย T_T

เราเริ่มไปที่ห้องเอมม่าก่อน ห้องก็เหมือนกันครับ แต่ต่างออกไปคือการตกแต่ง ที่สะดุดตาที่สุดในห้องนี้ก็คือ มีอ่างอาบน้ำตกแต่งห้องไว้อ่ะ เฮ้อออออ

ห้องทิมเป็นห้องต่อไป ตามด้วยห้องเอมิลี่และอลัน ห้องของโยนัส และปิดท้ายด้วยห้องผม


ผมต้องรับทุกคนด้วย Apple cider และฮอลล์ครับ บอกว่าเป็นไทยแคนดี้ อิอิอิ


พวกเราทัวร์ไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ตอนสองทุ่ม จนถึงเกือบเที่ยงคืนแน่ะ


จากนั้นทุกคนก็ออกไปต่อที่ผับ แต่สามเอเชี่ยน ผม อลัน และเอมิลี่ ขอตัวครับ เหนื่อยแล้ว


สรุปจนตอนนี้ผมเดินกลับมาเข้าห้อง ห้องทุกห้องประตูถูกเปิดอ้าไว้หมด เปิดไฟทิ้งไว้ เหมือนภาพที่ผมเจอเมื่อตอนกลับมาครั้งที่แล้ว


แต่ที่ต่างไป คือครั้งนี้ผมรู้แล้วว่าทำไมทุกคนจึงเปิดประตูห้องไว้อย่างนั้น


สรุปแล้ว ไอ้ Tour de Chamber เนี่ยะมันก็ไม่ได้น่ากลัวอะไรหรอก ดีเสียอีกที่ทำให้พวกเราสนิทกันมากขึ้น เพราะตลอดวันนี้กว่าหกชั่วโมง ผมได้คุยกับทุกคนในคอร์ริดอร์มากกว่าปีนึงที่ผ่านมาเสียอีก


ดังนั้น ถามตอนนี้ ผมประทับใจไอ้ Tour de Chamber นี่แหละครับ ใครจะเอาวิธีตามสวีดิชธรรมเนียมนี้ไปใช้ก็ไม่ว่ากัน

ป.ล. ผมถามโยนัสที่มาจากสต็อกโฮล์ม มันเองยังไม่เคยรู้เลยว่าสวีดิชมีธรรมเนียมนี้ด้วย เฮ้อๆๆๆๆ สงสัยจะเป็นธรรมเนียมของสกอเน่ ฮ่าๆๆๆ