Thursday 7 August 2008

ทัศนคติที่ดี ตอนที่ 1

ความทรงจำต่อไปนี้ เป็นสิ่งที่ผมขีดเขียนขึ้นเพื่อให้นักศึกษาได้อ่านครับ ผมเขียนเรื่องนี้ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2548 ผมเลยอยากจดจำเรื่องราวนี้ไว้เพื่อเตือนตัวเองครับ หวังว่ามันอาจช่วยเตือนคนที่อ่านทุกคนได้บ้างนะครับ (อาจมีหลายตอนไปหน่อยก็ ค่อยๆ อ่านนะครับ)


บ่อยครั้งที่เราได้ยินผู้คนมักพูดว่ามีทัศนคติที่ดี หากมีใครกล่าวเช่นนี้ว่าเรามีทัศนคติที่ดี ประการแรกที่สามารถรู้สึกได้คือ เราได้รับคำชมเชยมากกว่าที่จะถูกตำหนิ การมีทัศนคติที่ดี โดยนัยของมันเองก็คงเป็นคนละด้านกับการมีทัศนคติที่แย่ หรือมีทัศนคติที่ไม่ดี ในการที่เราจะทำความเข้าใจ กับการมีทัศนคติที่ดี ซึ่งโดยลักษณะของตัวมันเอง เป็นนามธรรมที่จับต้องได้ยาก และอาจจะหาคำนิยามที่สามารถสรุปความหมายทุกนัยของการมีทัศนคติที่ดีได้


ดังนั้นในเบื้องต้นเราคงต้องมาพิจารณาถึงนิยามของคำว่า ทัศนคติ ว่าคืออะไร ส่วนที่ว่าทัศนคติที่ดีเป็นเช่นใดนั้น ค่อยพิจารณาในลำดับต่อไป


ในขั้นแรกของการทำความเข้าใจถึงทัศนคติที่ดีนั้น เราคงต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า ทัศนคติคืออะไร ทัศนคติ เป็นคำสนธิระหว่าง ทัศน,ทัศน์ หรือ ทัสสนะ ซึ่งหมายความว่า ความเห็น ความเห็นด้วยปัญญา ส่วนคติ หมายความว่า แนวทาง


ดังนั้นคำว่า ทัศนคติ จึงน่าจะรวมความได้ว่า คือ แนวความคิดเห็นที่ประกอบด้วยปัญญาเป็นที่ตั้ง เป็นความคิดเห็นซึ่งมีพื้นมาจากปัญญา กล่าวคือ ใช้ปัญญาในการพิจารณาการเห็นนั้นเมื่อเราทราบว่า ทัศนคติ คือ แนวความคิดเห็น


หากจะพิจารณาดูให้ถี่ถ้วนแล้ว มนุษย์ทุกคนล้วนแต่ต้องมีทัศนคติ ตลอดเวลา ก่อนอื่นที่ต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า ทัศนคติที่เรามีนั้นในที่นี้ ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะสิ่งที่เราเรียกว่า ความเห็น หรือความคิดเห็นเท่านั้น หากแต่ความเห็น หรือความคิดเห็นตามที่เข้าใจในความหมายทั่วไปนั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความเห็นซึ่งเิกิดขึ้นแล้ว ผ่านกระบวนการแสดงออกมาให้ผู้อื่นรับรู้ ว่าเราเห็นอย่างไร ไม่ว่าจะโดยผ่านกระบวนการของการพูด (วาจา) เขียน (ลายลักษณ์อักษร) หรือโดยอากัปกริยาอื่นใดเท่านั้น หากแต่การเห็นในที่นี้หมายถึง ไปทั้งกระบวนการคิดโดยไม่พิจารณาว่าสิ่งที่คิดนั้นจะได้แสดงออกมาภายนอก และ หรือมีผู้ใดรับรู้ถึงความเห็นดังกล่าว หรือไม่ ดังนั้น ความเห็นจึงเป็นเพียงผลพวงที่ออกมาจากการคิดเท่านั้น


ทีนี้เมื่อเราเข้าใจกันแล้วว่า ทัศนคติที่ดี คือ แนวความคิดเห็นที่ดี คือ แนวความคิดเห็นที่ดี ต่อมาจึงพิจารณากันต่อไปว่า แล้วทัศนคติของมนุษย์ที่ว่าทุกคนมีอยู่ตลอดเวลา โดยอาจแยกสิ่งที่มนุษย์มีทัศนคติออกได้ 3 ด้านดังนี้


ด้านที่1 มนุษย์ทุกคนมีัทัศนคติต่อบุคลิกภาพและการดำเนินไปของสังคม ทั้งตนเองและบุคคลอื่นเสมอ ทุกคนมีทัศนคติในการดำเนินชีวิต ทุกช่วงและทุกขั้นตอนของการดำเนินชีวิตของตน เช่น การเดิน การวิ่ง การโดยสารรถ การนอน การกิน การเสพบริโภควัตถุ


ด้านที่2 มนุษย์มีทัศนคติต่อการพิจารณา และควบคุมอารมณ์ ความรู้สึกของตนเอง ทั้งโดยเหตุปัจจัยที่มาจากตนเอง และสังคมรอบข้างเสมอเช่น การโมโห การโกรธ ดีใจ เสียใจ ทุกข์ระทมใจ ปีติ ปราโมทย์ ทุกข์ใจ เหนื่อยใจ


ด้านที่3 มนุษย์มีทัศนคติต่อการคิดเห็น แสดงความคิดโดยผ่านกระบวนการคิดอย่างแยบคาย ทั้งในเรื่องของตนเอง และ เรื่องของสังคมรอบข้าง เช่น การแก้ปัญหา การแสดงความคิดเหตุ การคิดหาเหตุผล การตัดสินใจ การยอมแพ้ การปล่อยวาง


ทัศนคติหรือแนวความคิดเห็นในทั้งสามด้านนี้ อาจปรากฎออกมาในรูปแบบต่างๆโดยการผสานกันอยู่อย่างแยกออกจากกันแทบไม่ได้ หรืออาจอยู่แยกเป็นเอกเทศ จากกันเลยก็ได้ ในบางกรณี

No comments: