Sunday 25 April 2010

Genocide in Rwanda

รวันดา (Rwanda) เป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในทวีปแอฟริกา มีประชากรประมาณ 8 ล้านคน โดยเป็น ชาว Hutu ถึงร้อยละ85 ชาว Tutsi ร้อยละ 14 ที่เหลืออีกร้อยละ 1 เป็นชาว Batwa และชาว Pygmy

ชนวนความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในรวันดานี้ก็เป็นผลมาจากความเกลียดชังระหว่างของสองเชื้นชาติที่ฝังรากหยั่งลึกมาเป็นเวลายาวนานนับตั้งแต่โบราณแล้วคือ ความขัดแย้งระหว่างชาว Hutu และชาว Tutsi ภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่งสงบลงดินแดนรวันดารวมไปถึงบุรุนดี (Burundi) ที่อยู่ทางตอนใต้ของรวันดาก็ตกอยู่ภายใต้การปกครองของประเทศเบลเยียมตามมติขององค์การสันนิบาติชาติ

ในช่วงเวลาตั้งแต่ปีค.ศ.1924 ถึง ค.ศ.1962 ที่เบลเยียมปกครองรวันดา มีการส่งเสริมและสนับสนุนให้ชาว Tutsi ขึ้นมาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองดินแดนแห่งนี้ ทำให้ชาว Tutsi เริ่มมีการแสวงหาประโยชน์ในกับเชื้อชาติของตนและความต้องการที่จะเป็นเอกราชจากเบลเยี่ยม ทางรัฐบาล เบลเยียมจึงได้เปลี่ยนมาสนับสนุนชาว Hutu โดยหวังที่ให้ขึ้นมาเป็นผู้ปกครองประเทศแทน ไม่ว่าจะเป็นการเสนอให้โอกาสทางการเมืองและการศึกษาแกชาว Hutu ทำให้ชาว Tutsi เกิดความไม่พอใจเป็นอย่างมาก กระทั่งภายหลังจากที่รวันดาประกาศแยกตัวเป็นอิสระจากเบลเยียม ในปี ค.ศ.1962 รวันดามีประธานาธิบดีชาว Hutu คือ Gregoire Kayibanda สถานการณ์ทางการเมืองในช่วงนี้เรียกว่าเป็น “The First Republic” ได้เกิดการตอบโต้ (Repisal) ของชาว Hutu ต่อชาว Tutsi ที่อยู่ในรวันดา โดยการตอบโต้ดังกล่าวส่งผลให้ชาว Tutsi นับแสนต้องเสียชีวิต และถูกจำกัดสิทธิต่างๆ เงินและที่ดินของชาว Tutsi ก็ถูกริบเอามาเป็นของชาว Hutu ในช่วงที่ชาว Hutu ปกครองประเทศข้างฝ่าย Tutsi ก็ได้ร่วมกันจัดตั้งกองกำลังแนวร่วมรักชาติ (Rwanda Patriotic Front: RPF) ขึ้นมา ในอูกันดาเพื่อรอวันที่ชาว Tutsi จะกลับมามีอำนาจในรวันดาอีกครั้งหนึ่ง

ประธานาธิบดี Gregoire Kayibanda ได้ปกครองรวันดาเรื่อยมา จนกระทั่งในปี ค.ศ.1973 นายพล Juvenal Habyarimna ซึ่งเป็นชาว Hutu ได้ยึดอำนาจจากประธานาธิบดี Kayibanda และนำระบบเผด็จการทหารมาใช้ปกครองประเทศ ในช่วงนี้ถือว่าเป็น “The Second Republic” ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่าตลอดเวลาที่รัฐบาลเผด็จการทหารของนายพล Habyarimna ปกครองประเทศไม่ปรากฏว่าได้มีเหตุการณ์สังหารหมู่ระหว่างสองเชื้อชาติเกิดขึ้น แต่ในการปกครองประเทศนายพล Habyarimna ได้ปกครองประเทศโดยใช้นโยบายการเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบ (Policy of Systematic Discrimination) ต่อชาว Tutsi โดยนายพล Habyarimna มองว่าทุกพรรคการเมืองเป็นพรรคที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายยกเว้นเพียงแต่พรรคของตน และตลอดระยะเวลาที่ Habyarimna ปกครองประเทศนั้นมีชาว Tutsi ได้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆเป็นจำนวนที่น้อยมาก มีการห้ามมิให้ชาว Hutu สมรสกับชาว Tutsi และประชาชนทุกคนจะต้องพกบัตรประจำตัวที่ระบุเชื้อชาติไว้อย่างชัดแจ้งอยู่ด้วยเสมอ กระทั่งในปี ค.ศ.1990 ถึง ค.ศ.1993 รัฐบาลของนายพล Habyarimna ได้สังหารชาว Tutsi กว่า 2,000 คนด้วยเหตุผลที่อ้างว่าเป็นสมาชิกของ RPF

สถานการณ์ในรวันดาประทุขึ้นอย่างรุนแรงเมื่อปรากฏว่านายพล Habyarimna ถูกลอบสังหารโดยเครื่องบินถูกยิงตกโดยกองกำลังไม่ทราบฝ่าย เมื่อวันที่ 6 เมษายน ค.ศ.1994 แต่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของประธานาธิบดีเชื่อว่าเป็นการกระทำของ RPF จึงได้เริ่มมีการสังหารชาว Tutsi รวมไปถึงพวกที่มีแนวคิดตรงข้ามในทันที ในขณะที่ข้างฝ่ายกองกำลัง RPF ก็สบโอกาสในการบุกเข้าโจมตีกองกำลังฝ่าย Hutu ในเวลานั้นด้วยเช่นกัน ในช่วงเวลาสองสัปดาห์นับจากประธานาธิบดี Habyarimna เสียชีวิตมีชาว Tutsi ถูกสังหารไปอีกราวๆ 500,000 คน รวมตั้งแต่ ค.ศ.1990 ถึงค.ศ.1994 มีชาว Tutsi ถูกสังหารไป 800,000 – 850,000 คน อีกทั้งยังก่อให้เกิดคลื่นผู้อพยพที่ได้หลั่งไหลเข้าไปในประเทศใกล้เคียงไม่ว่าจะเป็น บุรุนดี แทนซาเนีย เคนยา อูกันดา อีกไม่ต่ำกว่า 2,000,000 คน

ความขัดแย้งดังกล่าวที่เกิดขึ้นได้ยุติลงด้วยชัยชนะของ RPF เหนือกองกำลังฝ่าย Hutu RPF จึงร่วมกับชาว Hutu หัวก้าวหน้าจัดตั้งรัฐบาลขึ้นปกครองประเทศเมื่อ กรกฎาคม ค.ศ.1994 และภายหลังจากความขัดแย้งยุติลง คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ได้มีข้อมติที่ 995 ตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศชั่วคราวขึ้นเพื่อพิจารณาความผิดของบรรดาผู้ที่มีส่วนในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาว Tutsi ในรวันดา

Crimes in the former Yugoslavia

อดีตประเทศยูโกสลาเวีย หรือที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่าสหพันธรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวีย (The Socialist Federal Republic of Yugoslavia: SFRY) เดิมเป็นประเทศที่กว้างใหญ่ที่สุดในคาบสมุทรบอลข่าน ประกอบไปด้วย 6 รัฐ คือ สโลเวเนีย (Slovenia) โครเอเทีย (Croatia) เซอร์เบีย (Serbia) บอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา (Bosnia-Hezegovina) มอนเตเนโก (Montenego)และมาซิโดเนีย (Macedonia) กับอีก 2 เขตปกครองตนเอง (autonomous region) คือโคโซโว (Kosovo) กับวอยโวดินา (Vojvodina)

ชนวนความขัดแย้งที่ก่อให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ขนานใหญ่ในดินแดนแห่งนี้ก็คือ ความแตกต่างทางชาติพันธุ์และศาสนา ที่แตกต่างกันออกไปเป็น 3 กลุ่มด้วยกันคือ ชาวเซิร์บซึ่งนับถือศาสนาคริสต์นิกายออโธดอกซ์ ชาวโครแอตซึ่งนับถือศาสนาคริสต์นิกายคาธอลิค และชาวสลาฟซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม ความขัดแย้งในดินแดนแถบนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่โบราณในสมัยที่อาณาจักรออตโตมันได้เข้ามาครอบครองเซอร์เบีย โดยชาวเซิร์บมีความรู้สึกว่าพวกตนตกเป็นเหยื่อความรุนแรงของชาวสลาฟและชาวโครแอตเรื่อยมา ดังเช่นในช่วงปี ค.ศ.1939 ได้ปรากฏว่ามีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวเซิร์บไปเป็นจำนวนมาก และในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองรัฐบาลหุ่นเชิดของนาซีเยอรมันในโครเอเทียก็ได้สังหารชาวเซิร์บไปอีกเป็นจำนวนนับแสนคน

ต่อมาเมื่อ จอมพลโจซิพ บรอส ติโต (Josip Broz Tito) ได้ขึ้นปกครองยูโกสลาเวียด้วยระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์ความขัดแย้งดังกล่าวก็ได้ลดน้อยลงไปใน แต่ภายหลังจากการถึงแก่ อสัญกรรมของจอมพลติโตในปี ค.ศ.1980 กอร์ปกับการล่มสลายของโซเวียต ในปี ค.ศ.1991 ส่งผลให้ความตึงเครียดของ 3 เชื้อชาติและศาสนาปะทุขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ยูโกสลาเวียได้ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างหนัก ทำให้สโลเวเนียและโครเอเทียซึ่งเป็นรัฐที่มีเศรษฐกิจดีและเป็นรัฐที่คอยเกื้อหนุนเศรษฐกิจโดยรวมของยูโกสลาเวีย มีความคิดที่จะแยกตัวออกเป็นอิสระเพื่อลดภาระทางเศรษฐกิจของตน ในขณะที่เซอร์เบียและมอนเตเนโกที่มีเศรษกิจที่ไม่ดีกลับมีความคิดที่ต้องการจะรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การสวนทางกันของความคิดดังกล่าวได้ขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ กอร์ปกับกระแสสิทธิมนุษยชนและสิทธิในการปกครองตนเองของระบบเสรีประชาธิปไตยได้หลั่งไหลเข้ามาในดินแดนแห่งนี้ ทำให้เกิดความแตกแยกในพรรคคอมมิวนิสต์ที่ปกครองยูโกสลาเวียอยู่ในขณะนั้นเสียอำนาจปกครองในโครเอเทีย บอสเนีย และมาซิโดเนียไป เป็นผลให้ในวันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ.1991 สโลเวเนีย และโครเอเทียได้ประกาศเอกราชจากยูโกสลาเวีย และต่อมาในวันที่ 8 กันยายน ค.ศ.1991 มาซิโดเนียก็ได้ประกาศเอกราชตาม

แต่เพียงสองวันนับจากการประกาศเอกราชของสโลเวเนียสงครามก็ประทุขึ้น โดยกองทัพประชาชนยูโกสลาฟ (Yugoslav People’s Army) ภายใต้การสั่งการของประธานาธิปดี สโลโบดัน มิโลเซวิค ได้เข้าโจมตีสโลเวเนีย สโลเวเนียจึงประกาศสงครามกับยูโกสลาเวีย เซอร์เบีย มอนเตเนโก โคโซโว และวอยโวดินา ซึ่งอยู่ภายใต้ควบคุมของเซอร์เบีย โดยในการทำสงครามนี้ก็เพื่อจุดมุ่งหมายในการแย่งชิงดินแดนให้มากที่สุด และจะได้นำดินแดนที่ชาวเซิร์บครอบครองอยู่อย่างกระจัดกระจายอยู่มารวมเข้าเป็นดินแดนเซอร์เบียประเทศแม่ เพื่อนำไปสู่การเป็น “The Greater Serbia”

ระหว่างการทำสงครามนั้นชาวเซอร์เบียได้นำเอานโยบาย “การชำระล้างเผ่าพันธุ์” (Ethnic Cleaning) มาใช้กับชาวสลาฟและชาวโครแอตในดินแดนโครเอเทีย โดยในการดำเนินนโยบายดังกล่าวชาวเซิร์บได้ขับไล่ชาวมุสลิม และกวาดต้อนไปกักขังในค่ายกักกัน และได้ทารุณกรรมต่างๆนาๆในค่ายกักกันนั้น ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายร่างกายชาวมุสลิมจนพิการ การสังหารด้วยวิธีการอันโหดร้าย เช่น การให้ชาวมุสลิมวิ่งหนีอย่างกระจัดกระจายแล้วยิงคนที่กำลังวิ่งหนีเหล่านั้นหรือการสังหารโดยการสุ่มเรียกชื่อ นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าได้มีการตั้งค่ายข่มขืนกระทำชำเรา (Rape Camp) ขึ้น เป็นเหตุให้มีเด็กหญิง และสตรีชาวมุสลิมถูกข่มขืนไปไม่ต่ำกว่า 60,000 คน โดยในจำนวนนี้บางรายถูกข่มขืนจนกระทั่งเสียชีวิต บ้างก็ถูกข่มขืนจนกระทั่งเห็นได้ว่าตั้งครรภ์ นอกจากนี้ในขณะที่ข่มขืนสตรีชาวมุสลิมยังได้มีการบันทึกภาพเพื่อทำเป็นภาพยนตร์ และให้สตรีนั้นๆสารภาพว่าได้ถูกข่มขืนจริง กระบวนการข่มขืนนี้เรียกว่า “Systematic Rape” เป็นเหตุให้สตรีมุสลิมกว่า 25,000 รายตั้งครรภ์ และทารกที่จะเกิดขึ้นนั้นจะไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมมุสลิม กลายเป็นเด็กที่ไม่เป็นที่ต้องการ (unwanted children) และก่อให้เกิดเป็นความด่างพร้อยทางเชื้อชาติ ซึ่งถือได้ว่าเป็นมาตรการที่การทำลายความบริสุทธิ์ทางเชื้อชาติและศาสนาที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง

ภายหลังจากเหตุการณ์สงบลง คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้มีข้อมติที่ 883 ให้จัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศชั่วคราวขึ้นเพื่อพิจารณาคดีต่อบุคคลที่ได้กระทำการอันเป็นการละเมิดต่อหลักสิทธิมนุษยชน และหลักกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศในดินแดนอดีตประเทศยูโกสลาเวียนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ค.ศ.1991 เป็นต้นมา ซึ่งการดำเนินคดีของศาล ยูโกสลาเวียนี้ยังคงดำเนินอยู่จนกระทั่งในปัจจุบัน

Genocide during WWII

สงครามโลกครั้งที่สองเป็นเหตุการณ์มหาวิปโยคที่ไม่อาจลบออกไปจากประวัติศาสตร์ของโลก และความทรงจำของผู้คนในโลกนี้ไปได้ เนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นสงครามที่มีความความรุนแรงซึ่งสั่นคลอนเสถียรภาพของโลกเป็นอย่างมาก ความสูญเสียและความเสียหายไม่ว่าจะต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินก็ตาม ล้วนแต่เกิดขึ้นอย่างมหาศาลทั่วทุกหัวระแหง นับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 30 เป็นมา จวบจนกระทั่งสิ้นสุดลงในช่วงกลางทศวรรษที่ 40 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองนั้น อาชญากรรมระหว่างประเทศจำนวนมากไม่ว่าจะเป็น อาชญากรรมต่อสันติภาพ อาชญากรรมสงคราม หรืออาชญากรรมต่อมนุษยชาติถูกก่อขึ้นอย่างเนืองๆ โดยท่ามกลางอาชญากรรมระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นเหล่านั้น เหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่งที่ไม่อาจไม่กล่าวถึง ก็คือ เหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในประเทศเยอรมนีและประเทศอื่นๆในทวีปยุโรป เช่น ประเทศอิตาลี ประเทศออสเตรีย ประเทศเช็คโกสโลวะเกีย ประเทศฮังการี หรือประเทศโรมาเนีย ในช่วง ค..1933-1945 ที่เรียกกันว่า “The Holocaust” ซึ่งจากเหตุการณ์นี้ส่งผลให้ชาวยิว และชนกลุ่มน้อยอื่นๆในยุโรป ไม่ว่าจะเป็น ชาวยิปซี หรือชาวสลาฟ เสียชีวิตไปไม่ต่ำกว่า 6 ล้านคน หรือคิดเป็นจำนวนร้อยละ 13 ของพลเรือนที่เสียชีวิตไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองซึ่งมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 46 ล้านคนทั่วโลก

The Holocaust
หรือเหตุการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์นี้ เริ่มต้นที่ประเทศเยอรมนี ตามนโยบายลัทธิต่อต้านยิว (anti-Semitism) ของพรรคนาซีเยอรมัน ภายใต้การนำของ อดอฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ซึ่งได้ขึ้นครองอำนาจเป็นผู้นำของประเทศเมื่อต้นเดือนมกราคม ค..1933 ทันทีที่ฮิตเลอร์ขึ้นสู่อำนาจก็ได้ดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวของพรรคในทันที โดยได้มีการออกกฎหมายยึดทรัพย์สินและเข้าควบคุมกิจการห้างร้านทั้งหมดที่เป็นของชาวยิว เจ้าหน้าที่ชาวยิวถูกปลดออกจากตำแหน่งทั้งหมด ในปีค..1935 ชาวยิวทั้งหมดในเยอรมนีถูกถอนสัญชาติเยอรมันกลายเป็นคนไร้สัญชาติ ถูกห้ามมิให้สมรสกับชาวเยอรมันเชื้อสายอื่นๆ และถูกจำกัดสิทธิในการเรียน สิทธิในการประกอบอาชีพ สิทธิในการประกอบธุรกิจ สิทธิในการครอบครองที่ดิน สิทธิในการใช้สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ตลอดจนสิทธิในการคบค้าสมาคมกับคนที่ไม่ใช่ยิว เป็นเหตุให้ชาวยิวถูกมองว่าไม่ใช่คน ถูกกดขี่ข่มเหงต่างๆนาๆ เด็กชายชาวยิวที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปจะถูกเกณฑ์ไปทำงานในโรงงานผลิตอาวุธ และเด็กชาวยิวที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไปต้องติดสัญลักษณ์รูปดาวแห่งดาวิด (Star of David) เพื่อแสดงให้รู้ว่าเป็นยิว อีกทั้งยังถูกตีกรอบทางสังคมและการดำรงชีวิตโดยถูกจำกัดให้อาศัยอยู่ในเฉพาะบริเวณที่จัดให้เป็นที่พักของชาวยิวและในค่ายกักกัน (Concentration camps) เท่านั้น


ชัยชนะของเยอรมนีในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่สอง ยังผลให้ไม่เพียงแต่ชาวยิวในเยอรมนีเท่านั้นที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ยังได้ขยายไปยังชาวยิวที่อยู่ประเทศอื่นๆในแถบยุโรปด้วย โดยทุกดินแดนที่กองทัพเยอรมนียาตราไป ก็จะมีการล้อมจับชาวยิว ชาวยิปซีและชาวสลาฟ มายิงจนเสียชีวิต และนำไปฝังรวมกันในหลุมขนาดใหญ่ หรือไม่ก็กวาดต้อนขึ้นไปอยู่รวมกันในรถบรรทุก และเอาควันไอเสียพ่นจนเสียชีวิต


ในวันที่
20 มกราคม ค..1942 บรรดาผู้นำนาซีได้ประชุมปรึกษาหารือกันเพื่อหาบทสรุปสุดท้ายสำหรับปัญหาชาวยิว (The final resolution of the Jewish question) ซึ่งผลจากการประชุมได้ข้อสรุปว่าจะให้มีการกวาดต้านชาวยิวจากทุกที่ที่นาซีครอบครองไปยังค่ายกักกันทางตะวันออก เพื่อปฏิบัติตามบทสรุปสุดท้ายคือ การประหารชีวิต การบังคับให้ทำงานอย่างหนักภายใต้ภาวะที่ขาดแคลนอาหารโดยวิธีการสังหารที่ทำลายล้างชาวยิวไปมากที่สุดก็คือ การรมแก๊สพิษ (gassing extermination) โดยที่เหยื่อไม่รู้ตัว การสังหารโดยวิธีการนี้ได้คร่าชีวิตชาวยิวที่ค่ายกักกัน Auchwitz และค่ายกักกันอื่นๆไปเกือบ 4 ล้านคน


สงครามโลกครั้งที่สองดำเนินมาจนกระทั่งถึงวันที่
8 พฤษภาคม ค..1945 ก็สิ้นสุดลงด้วยชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตร และภายหลังจากนั้นฝ่ายสัมพันธมิตรได้ตั้งศาลทหารระหว่างประเทศ ณ นูเรมเบิร์ก (International Military Tribunal at Nuremberg) และศาลตามเขตที่เยอรมนีครอบครอง (zonal tribunal) ขึ้นมาพิจารณาคดีบรรดาผู้นำนาซีและสมุนที่ได้ก่ออาชญากรรมระหว่างประเทศขึ้นในช่วงสงคราม อนึ่งนอกเหนือไปจากการดำเนินคดีของศาลทหารระหว่างประเทศที่ตั้งขึ้นแล้วในหลายรัฐยังได้ศาลภายในมีการปรับใช้เขตอำนาจดำเนินคดีและลงโทษผู้กระทำความผิดในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย ซึ่งในการดำเนินคดีโดยศาลภายในเหล่านั้นก็รวมถึงกรณีที่ศาลปรับใช้เขตอำนาจรัฐสากลด้วย ดังเช่น การดำเนินคดี Adolf Eichmann และ John Demjanjuk ของศาลอิสราเอล การดำเนินคดี Imre Finta ของศาลแคนาดา หรือการดำเนินคดี Anthony Sawoniuk ของศาลอังกฤษ เป็นต้น

Saturday 24 April 2010

Waiting

การรอคอย เป็นเรื่องที่หลายคนอาจจะทำใจยากในการที่จะเผชิญกับมัน แต่สำหรับผม ผมคิดว่าการรอคอยเป็นหนึ่งด่านสำคัญที่จะฝึกความอดทนของเรา ยิ่งถ้าการรอคอยนั้นมันอยู่นอกเหนือการควบคุมของเราแล้ว การจะไปเร่ง หรือบังคับให้การรอคอยสิ้นสุดก็คงยาก มันคงอยู่นอกเหนือการบังคับ ควบคุมของเรา

ดังนั้น การรอคอยคงเป็นด่านวัดขันติธรรมเป็นแน่แท้

ผมฝึกการรอคอยมาตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่วัยเยาว์สิ่งที่ฝึกธรรมะเรื่องความอดทนและใจเย็นให้ผมกลับเป็นอกุศลกรรมเสียนี่ ก็คือ การตกปลา จับแมลงปอ จับตั๊กแตน จับแมลงทับ อกุศลล้วนๆ

แต่อย่างไรก็ดี อกุศลกรรมเหล่านี้กลับสร้างภูมิคุ้มกันการรอคอยให้กับผมอย่างดี ผมสามารถนั่งรอคอยโดยไม่รู้สึกเป็นทุกข์เป็นร้อนได้นานมากมายโดยสบายๆ

และการไปเที่ยวครั้งล่าสุดผมก็ได้พิสูจน์ขันติธรรมข้อนี้อีกครา

  • การรอคอยครั้งแรกเริ่มการการที่เที่ยวบินจาก Katowice, Poland เพื่อไปยัง Brussels, Belgium ถูกเลื่อนเวลาออกไปครึ่งชั่วโมง ก่อนที่จะประกาศว่าสนามบินที่เบลเยี่ยมปิด แลัเครื่องจะต้องบินไปลงที่บอนน์ ในเยอรมนีแทน


ผู้คนจอกแจกจอแจ เพราะต่างก็ไม่เข้าใจเหตุผลของการเปลี่ยนจุดหมายการบินกระทันหัน คงเพียงแต่ทราบว่ามัปัญหาเรื่องการบิน ดังนั้นเกือบสองชั่วโมง ที่ผมต้องยืนรอเพื่อขึ้นเครื่อง จนกว่าเครื่องจะขึ้น

  • การรอคอยเพื่อเดินทางจาก Brussels, Belgium ไปยัง Amsterdam, Netherlands อย่างแรกคือด้วยเพราะเครื่องบินถูกระงับหมด ดังนั้นช่องทางง่ายและถูก คือการนั่งรถบัส ผมเดินทางไปจองตั๋ว อย่างแรกคือต้องรอคิวนานมาก เพราะผู้คนต่างตกค้างมากมาย


ผมกะจะเดินทางรอบตอน 11 โมง แต่ก็ได้ตั๋วรอบบ่ายโมง ดังนั้นต้องนั่งรอเกือบ สามชั่วโมง

แต่บ่ายโมงก็แล้ว บ่ายสองก็แล้ว ยังไม่มีวี่แววของรถเลย ผู้คนเริ่มเบื่อ ทยอยกันออกมานอนตากแดดที่ลานริมถนน


เืกือบบ่ายสาม กว่ารถจะมา สรุปผมต้องนั่งรอบัสกว่า ห้าชั่วโมง

  • การรอคอยอีกครั้งคือการซื้อตั๋วรถบัสจากอัมสเตอร์ดัมเพื่อกลับลุนด์

ผมเข้าคิวกว่าชั่วโมงกว่าจะถึงเคาท์เตอร์ขายตั๋ว


รอกว่าอีกสองชั่วโมง เพื่อเช็คอิน









และในที่สุดแล้วใช้เวลากว่า 18 ชั่วโมงในการเดินทางกลับลุนด์

เหนื่อยมาก

พอกันทีกับการฝึกขันติธรรม










Friday 23 April 2010

Auschwitz Concentration Camp

เป้าหมายหลักอย่างหนึ่งของผมในการเดินทางมาที่โปแลนด์ ก็คือ การได้มาที่ค่ายกักกันนาซี สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง "Auschwitz and Birkenau"

ตั้งแต่เรียนปริญญาโทที่เมืองไทย ผมเรียนเรื่องราวเกี่ยวกับสงครามโลก และเรื่องค่าย Auschwitz มานาน มากมาย แถมยังทำวิทยานิพนธ์ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ Auschwitz อีกด้วย แถมตอนนี้วิทยานิพนธ์ของผมมันก็ยังอ้างอิงถึงอาชญากรรมที่ Auschwitz เหมือนเช่นเคย ดังนั้นการเดินทางไป Auschwitz สักครั้ง คงเป็นเรื่องที่สมควรอย่างยิ่งสำหรับผม

ค่าย Auschwitz อยู่ที่เมือง Oświęcim ห่างออกไปประมาณ 70 กม. จากเมืองคาร์คาวครับ เป็นค่ายกักกันที่เยอรมันสร้างขึ้นเมื่อช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และที่นี่เป็นค่ายกักกันที่ใหญ่ที่สุด และที่ที่สังหารผู้คนมากที่สุดกว่าหนึ่งล้านคน

Auschwitz มีอยู่สามส่วน Auschwitz I, Auschwitz II: Birkenau and Auschwitz III: Moniwitz โดยมีวัตถุประสงค์ในการกักกันชาวยิว ยิปซี โปล์ เป็นหลัก

หลังจากที่ถูกส่งตัวมาที่ Auschwitz บรรดาเหยื่อจะถูกแยกออกเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มชายที่สามารถใช้แรงงานได้ กับ หญิงและเด็ก ซึ่งกลุ่มนี้จะถูกส่งไปยัง Gas Chamber เพื่อสังหารทิ้ง

แต่ก่อนสังหาร บรรดาเหยื่อโดยเฉพาะผู้หญิงจะถูกโกนผมออกทั้งหมด ซึ่งผมนี้จะนำไปทอเป็นผ้า เพื่อตัดเย็บ หรือทอเป็นถุงเท้า จากนั้นก็จะถูกต้อนเข้า Gas Chamber เพื่ออาบน้ำ ก่อนที่ผู้คุมจะนำ Cyclone B ซึ่งเป็นสารที่จะแปลสภาพเป็นก๊าซพิษ เมื่ออยู่ที่อุณหภูมิ 26 องศาขึ้นไป ใส่เข้าด้านบนของ Gas Chamber

ภายในเวลา 20 นาที ผู้คนกว่าสองพันคนก็จะตาย และซากศพก็จะถูกโกยออกมาทิ้ง และเผาทำลาย

แต่อย่างไรก็ดีบรรดาเหยื่อที่ Auschwitz จำนวนมากกลับตายลงเพราะเนื่องจากการขาดอาหาร เพราะทุกคนต้องทำงานตลอดเวลากว่า 19 ชม. ต่อวัน แต่อาหารที่ได้กินกลับมีเพียงน้อยนิด และขาดคุณค่า กระทั่งบางมื้อเป็นการกินเพียงหญ้าในน้ำ เท่านั้น

ภายในค่าย Auschwitz ผมได้เข้าไปดูสภาพอาคาร ที่พัก และที่สังหารของเหยื่อ ที่ถูกกักกันที่นี่

ประสบการณ์ครั้งนี้จะยังจดจำ และเป็นแรงผลักดันให้ผมเดินตามเส้นทางที่ผมศึกษาต่อไป


the Polish President's funeral





ก่อนที่ผมจะเดินทางไปโปแลนด์เพียงวันเดียวเท่านั้น ประธานาธิบดีของประเทศโปแลนด์ President Lech Kaczynski ได้ประสบอุบัติเหตุทางเครื่องบินเสียชีวิตที่ประเทศรัสเซีย ดังนั้นในช่วงเวลานั้น ผู้คนในประเทศต่างก็กำลังเศร้าโศก เพราะประธานาธิบดีท่านนี้เป็นที่รักและเคารพอย่างมากสำหรับคนโปลิช





ไปไหมมาไหนก็มีแต่คนใส่ชุดดำไว้ทุกข์ ไม่ว่่าจะเป็นที่วอร์ซอร์ หรือที่คาร์คาว
ครั้งนี้ผมก็เลยได้ภาพในพิธีไว้อาลัยประธานาธิบดีโปแลนด์มามากทีเดียว

ก็ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของประเทศโปแลนด์ ซึ่งประจวบเหมาะเป็นเวลาเดียวกับที่ผมเดินทางมาประเทศนี้













แหม ก็ประธานาธิบดีจะตายกันทุกวันเสียเมื่อไหร่เนอะ

Wednesday 21 April 2010

I am back!

กลับมาแล้วครับ จากการเดินทางที่ทุลักทุเล และมีปัญหาต้องแก้ไม่เว้นแต่ละวัน แต่ที่สำคัญผมก็เป็นหนึ่งคนที่ต้องผจญกับปัญหาควันไฟจากภูเขาไฟที่ระเบิดในประเทศไอซ์แลนด์

การเดินทางจากมาลเมอไปยังวอร์ซอร์โดยเครื่องบินดูแลราบเรียบสะดวกสะบายดีครับ ใช้เวลาไม่นานก็ไปถึงกรุงวอร์ซอร์ ประเทศโปแลนด์

จากนั้นก็นั่งรถไฟที่ค่อนข้างต่ำกว่ามาตรฐานไปยังคราคาว เมืองมรดกโลก เดินเที่ยวในเมือง ไปเหมืองเกลือ และไปยังค่ายกักกันนาซี Auschwitz

การเดินทางเริ่มทุลักทุเล เมื่อเครื่องจากคาโตวิช ไปยังบรัสเซลเริ่มเลื่อนเวลา และก็ประกาศแจ้งว่าสนามบินที่บรัสเซลส์ปิด ทำให้เครื่องต้องบินไปลงที่บอนน์ เยอรมนี จากนั้นก็ต้องนั่งบัสจากบอนน์ไปยังบรัสเซลส์

จากบรัสเซลส์ ผมต้องนั่งบัสไปยังอัมสเตอร์ดัม ท่ามกลางผู้คนที่ตกเครื่องมากมาย

ที่อัมสเตอร์ดัม ผมได้ไปชมสวนทิวลิปที่คูเคนฮอฟ ไปบ้านแอน แฟรงค์ red-light area แล้วก็ต้องรีบจัดการเรื่องการเดินทางต่อ เพราะเที่ยวบินกลับถูกยกเลิก

ท่ามกลางผู้คนมากมายที่หน้าออฟฟิซของยูโรไลน์ส ผมต้องพยายามหารถบัสกลับมายังลุนด์ให้ได้ ในที่สุดก็ได้ตั๋วบัสมาครับ

การเดินทางกลัยมาลุนด์ใช้เวลาค่อนข้างนาน เพราะผมออกจากที่พักที่อัมสเตอร์ดัมตั้งแต่สามทุ่มครึ่ง นั่งเมโทรมาเช็คอิน บัสออกประมาณห้าทุ่มครึ่งจากอัมเตอร์ดัม มาถึงฮัมบวร์กตอนหกโมงเช้า

ออกจากฮัมบวร์กแปดโมง มาขึ้นเรือสแกนดิก เพื่อข้ามไปยังเดนมาร์ก แล้วบัสแล่นต่อไปยังโคเปนเฮเกน ถึงตอนบ่ายโมง จากโคเปนเฮเกน ผมนั่งรถไฟต่อมาลุนด์ แล้วเดินกลับมาห้อง

ผมมาถึงห้องก็เกือบบ่ายสองโมงครึงแล้วครับ สรุปแล้วการเดินทางกลับมาของผมใช้เวลาไปเกือบ 17 ชั่วโมง

เหนื่อยมากๆ แต่ก็มีเรื่องราวและภาพจำมากมาย ผมจะค่อยๆ ทยอยเล่าแล้วกันนะครับ แต่ตอนนี้คงต้องขอเวลาพัก และปั่นธีซิสก่อนนะครับ

Friday 9 April 2010

The new journey is coming

ห่างหายจากการเดินทางไปท่องเที่ยวมาสักพัก จะว่าไปก็ไม่นานเท่าไหร่ เพราะหลังจากกลับมาจากฝรั่งเศส ก็ได้ไปเที่ยวใกล้ๆ แถวนี้ ทั้ง Bjärred และ Göteborg แต่มันก็เป็นเพียงทริปสั้นๆ เท่านั้นครับ


การเดินทางครั้งใหม่ของผมกำลังจะเริ่มขึ้นในวันจันทร์ที่จะถึงนี้


ตามแผนการเดินทางผมจะออกจาก Lund ไปยัง Malmö เพื่อโดยสารเครื่องบินของ WizzAir ไปยัง Warsaw, Poland แล้วก็นั่งรถไฟข้ามคืนไปเช้าที่ Krakow, Poland จากนั้นก็จะอยู่ที่นี่สองวัน เพื่อไปยังค่ายกักกันนาซี Auschwitz

จากนั้นจะเดินทางต่อไปยังเมือง Katowice, Poland เพื่อไปต่อเครื่องบินไปยัง Brussels, Belgium ต่อด้วยนั่งรถไฟไปเที่ยว Luxembourg City, Luxembourg

ก่อนจะมาจบท้ายด้วยการนั่งรถไฟมายัง Amsterdam, The Netherlands เพื่อมาชมทิวลิปที่ Keukenhof

แล้วจึงนั่งเครื่องจากอัมเตอร์ดัมกลับมาลุนด์


การเดินทางครั้งนี้จะมีเรื่องราวอะไรบ้างไว้ว่างๆ กลับมาจะมาทยอยเล่าให้ฟังครับ

Monday 5 April 2010

Glad Påsk!

สวัสดีครับ ช่วงนี้เป็นวันอีสเตอร์ครับ อย่างแรกก็สุขสันต์วันอีสเตอร์นะครับ

ปีนี้ก็เป็นปีที่สองแล้วที่ผมฉลองอีสเตอร์ที่ต่างแดน แต่เอาจริงๆ แล้วปีที่แล้วแทบไม่ได้ฉลองอะไรเลย ก็แค่เป็นช่วงวันหยุดไม่มีเรียนเท่านั้น เพราะผมไม่มีความรู้อะไรเลยเกี่ยวกับเทศกาลอีสเตอร์ รู้แต่ว่ามันต้องเกี่ยวกับไข่น่ะครับ

แต่ปีนี้แตกต่างจากปีที่แล้ว เพราะว่าได้ไปฉลองอีสเตอร์ที่บ้านพี่เจี๊ยบ พี่สาวผู้แสนดีแห่งลุนด์

งานนี้ก็เลยเหมือนทุกครั้งครับที่จะประกอบไปด้วยอาหารหลากหลายให้กินกัน


























กินจนอิ่มมากๆๆๆ ต้องขอบคุณพี่เจี๊ยบมา ณ โอกาสนี้ครับ