Sunday 25 April 2010

Genocide during WWII

สงครามโลกครั้งที่สองเป็นเหตุการณ์มหาวิปโยคที่ไม่อาจลบออกไปจากประวัติศาสตร์ของโลก และความทรงจำของผู้คนในโลกนี้ไปได้ เนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นสงครามที่มีความความรุนแรงซึ่งสั่นคลอนเสถียรภาพของโลกเป็นอย่างมาก ความสูญเสียและความเสียหายไม่ว่าจะต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินก็ตาม ล้วนแต่เกิดขึ้นอย่างมหาศาลทั่วทุกหัวระแหง นับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 30 เป็นมา จวบจนกระทั่งสิ้นสุดลงในช่วงกลางทศวรรษที่ 40 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองนั้น อาชญากรรมระหว่างประเทศจำนวนมากไม่ว่าจะเป็น อาชญากรรมต่อสันติภาพ อาชญากรรมสงคราม หรืออาชญากรรมต่อมนุษยชาติถูกก่อขึ้นอย่างเนืองๆ โดยท่ามกลางอาชญากรรมระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นเหล่านั้น เหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่งที่ไม่อาจไม่กล่าวถึง ก็คือ เหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในประเทศเยอรมนีและประเทศอื่นๆในทวีปยุโรป เช่น ประเทศอิตาลี ประเทศออสเตรีย ประเทศเช็คโกสโลวะเกีย ประเทศฮังการี หรือประเทศโรมาเนีย ในช่วง ค..1933-1945 ที่เรียกกันว่า “The Holocaust” ซึ่งจากเหตุการณ์นี้ส่งผลให้ชาวยิว และชนกลุ่มน้อยอื่นๆในยุโรป ไม่ว่าจะเป็น ชาวยิปซี หรือชาวสลาฟ เสียชีวิตไปไม่ต่ำกว่า 6 ล้านคน หรือคิดเป็นจำนวนร้อยละ 13 ของพลเรือนที่เสียชีวิตไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองซึ่งมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 46 ล้านคนทั่วโลก

The Holocaust
หรือเหตุการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์นี้ เริ่มต้นที่ประเทศเยอรมนี ตามนโยบายลัทธิต่อต้านยิว (anti-Semitism) ของพรรคนาซีเยอรมัน ภายใต้การนำของ อดอฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ซึ่งได้ขึ้นครองอำนาจเป็นผู้นำของประเทศเมื่อต้นเดือนมกราคม ค..1933 ทันทีที่ฮิตเลอร์ขึ้นสู่อำนาจก็ได้ดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวของพรรคในทันที โดยได้มีการออกกฎหมายยึดทรัพย์สินและเข้าควบคุมกิจการห้างร้านทั้งหมดที่เป็นของชาวยิว เจ้าหน้าที่ชาวยิวถูกปลดออกจากตำแหน่งทั้งหมด ในปีค..1935 ชาวยิวทั้งหมดในเยอรมนีถูกถอนสัญชาติเยอรมันกลายเป็นคนไร้สัญชาติ ถูกห้ามมิให้สมรสกับชาวเยอรมันเชื้อสายอื่นๆ และถูกจำกัดสิทธิในการเรียน สิทธิในการประกอบอาชีพ สิทธิในการประกอบธุรกิจ สิทธิในการครอบครองที่ดิน สิทธิในการใช้สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ตลอดจนสิทธิในการคบค้าสมาคมกับคนที่ไม่ใช่ยิว เป็นเหตุให้ชาวยิวถูกมองว่าไม่ใช่คน ถูกกดขี่ข่มเหงต่างๆนาๆ เด็กชายชาวยิวที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปจะถูกเกณฑ์ไปทำงานในโรงงานผลิตอาวุธ และเด็กชาวยิวที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไปต้องติดสัญลักษณ์รูปดาวแห่งดาวิด (Star of David) เพื่อแสดงให้รู้ว่าเป็นยิว อีกทั้งยังถูกตีกรอบทางสังคมและการดำรงชีวิตโดยถูกจำกัดให้อาศัยอยู่ในเฉพาะบริเวณที่จัดให้เป็นที่พักของชาวยิวและในค่ายกักกัน (Concentration camps) เท่านั้น


ชัยชนะของเยอรมนีในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่สอง ยังผลให้ไม่เพียงแต่ชาวยิวในเยอรมนีเท่านั้นที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ยังได้ขยายไปยังชาวยิวที่อยู่ประเทศอื่นๆในแถบยุโรปด้วย โดยทุกดินแดนที่กองทัพเยอรมนียาตราไป ก็จะมีการล้อมจับชาวยิว ชาวยิปซีและชาวสลาฟ มายิงจนเสียชีวิต และนำไปฝังรวมกันในหลุมขนาดใหญ่ หรือไม่ก็กวาดต้อนขึ้นไปอยู่รวมกันในรถบรรทุก และเอาควันไอเสียพ่นจนเสียชีวิต


ในวันที่
20 มกราคม ค..1942 บรรดาผู้นำนาซีได้ประชุมปรึกษาหารือกันเพื่อหาบทสรุปสุดท้ายสำหรับปัญหาชาวยิว (The final resolution of the Jewish question) ซึ่งผลจากการประชุมได้ข้อสรุปว่าจะให้มีการกวาดต้านชาวยิวจากทุกที่ที่นาซีครอบครองไปยังค่ายกักกันทางตะวันออก เพื่อปฏิบัติตามบทสรุปสุดท้ายคือ การประหารชีวิต การบังคับให้ทำงานอย่างหนักภายใต้ภาวะที่ขาดแคลนอาหารโดยวิธีการสังหารที่ทำลายล้างชาวยิวไปมากที่สุดก็คือ การรมแก๊สพิษ (gassing extermination) โดยที่เหยื่อไม่รู้ตัว การสังหารโดยวิธีการนี้ได้คร่าชีวิตชาวยิวที่ค่ายกักกัน Auchwitz และค่ายกักกันอื่นๆไปเกือบ 4 ล้านคน


สงครามโลกครั้งที่สองดำเนินมาจนกระทั่งถึงวันที่
8 พฤษภาคม ค..1945 ก็สิ้นสุดลงด้วยชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตร และภายหลังจากนั้นฝ่ายสัมพันธมิตรได้ตั้งศาลทหารระหว่างประเทศ ณ นูเรมเบิร์ก (International Military Tribunal at Nuremberg) และศาลตามเขตที่เยอรมนีครอบครอง (zonal tribunal) ขึ้นมาพิจารณาคดีบรรดาผู้นำนาซีและสมุนที่ได้ก่ออาชญากรรมระหว่างประเทศขึ้นในช่วงสงคราม อนึ่งนอกเหนือไปจากการดำเนินคดีของศาลทหารระหว่างประเทศที่ตั้งขึ้นแล้วในหลายรัฐยังได้ศาลภายในมีการปรับใช้เขตอำนาจดำเนินคดีและลงโทษผู้กระทำความผิดในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย ซึ่งในการดำเนินคดีโดยศาลภายในเหล่านั้นก็รวมถึงกรณีที่ศาลปรับใช้เขตอำนาจรัฐสากลด้วย ดังเช่น การดำเนินคดี Adolf Eichmann และ John Demjanjuk ของศาลอิสราเอล การดำเนินคดี Imre Finta ของศาลแคนาดา หรือการดำเนินคดี Anthony Sawoniuk ของศาลอังกฤษ เป็นต้น

No comments: