Sunday, 25 April 2010

Genocide in Rwanda

รวันดา (Rwanda) เป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในทวีปแอฟริกา มีประชากรประมาณ 8 ล้านคน โดยเป็น ชาว Hutu ถึงร้อยละ85 ชาว Tutsi ร้อยละ 14 ที่เหลืออีกร้อยละ 1 เป็นชาว Batwa และชาว Pygmy

ชนวนความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในรวันดานี้ก็เป็นผลมาจากความเกลียดชังระหว่างของสองเชื้นชาติที่ฝังรากหยั่งลึกมาเป็นเวลายาวนานนับตั้งแต่โบราณแล้วคือ ความขัดแย้งระหว่างชาว Hutu และชาว Tutsi ภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่งสงบลงดินแดนรวันดารวมไปถึงบุรุนดี (Burundi) ที่อยู่ทางตอนใต้ของรวันดาก็ตกอยู่ภายใต้การปกครองของประเทศเบลเยียมตามมติขององค์การสันนิบาติชาติ

ในช่วงเวลาตั้งแต่ปีค.ศ.1924 ถึง ค.ศ.1962 ที่เบลเยียมปกครองรวันดา มีการส่งเสริมและสนับสนุนให้ชาว Tutsi ขึ้นมาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองดินแดนแห่งนี้ ทำให้ชาว Tutsi เริ่มมีการแสวงหาประโยชน์ในกับเชื้อชาติของตนและความต้องการที่จะเป็นเอกราชจากเบลเยี่ยม ทางรัฐบาล เบลเยียมจึงได้เปลี่ยนมาสนับสนุนชาว Hutu โดยหวังที่ให้ขึ้นมาเป็นผู้ปกครองประเทศแทน ไม่ว่าจะเป็นการเสนอให้โอกาสทางการเมืองและการศึกษาแกชาว Hutu ทำให้ชาว Tutsi เกิดความไม่พอใจเป็นอย่างมาก กระทั่งภายหลังจากที่รวันดาประกาศแยกตัวเป็นอิสระจากเบลเยียม ในปี ค.ศ.1962 รวันดามีประธานาธิบดีชาว Hutu คือ Gregoire Kayibanda สถานการณ์ทางการเมืองในช่วงนี้เรียกว่าเป็น “The First Republic” ได้เกิดการตอบโต้ (Repisal) ของชาว Hutu ต่อชาว Tutsi ที่อยู่ในรวันดา โดยการตอบโต้ดังกล่าวส่งผลให้ชาว Tutsi นับแสนต้องเสียชีวิต และถูกจำกัดสิทธิต่างๆ เงินและที่ดินของชาว Tutsi ก็ถูกริบเอามาเป็นของชาว Hutu ในช่วงที่ชาว Hutu ปกครองประเทศข้างฝ่าย Tutsi ก็ได้ร่วมกันจัดตั้งกองกำลังแนวร่วมรักชาติ (Rwanda Patriotic Front: RPF) ขึ้นมา ในอูกันดาเพื่อรอวันที่ชาว Tutsi จะกลับมามีอำนาจในรวันดาอีกครั้งหนึ่ง

ประธานาธิบดี Gregoire Kayibanda ได้ปกครองรวันดาเรื่อยมา จนกระทั่งในปี ค.ศ.1973 นายพล Juvenal Habyarimna ซึ่งเป็นชาว Hutu ได้ยึดอำนาจจากประธานาธิบดี Kayibanda และนำระบบเผด็จการทหารมาใช้ปกครองประเทศ ในช่วงนี้ถือว่าเป็น “The Second Republic” ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่าตลอดเวลาที่รัฐบาลเผด็จการทหารของนายพล Habyarimna ปกครองประเทศไม่ปรากฏว่าได้มีเหตุการณ์สังหารหมู่ระหว่างสองเชื้อชาติเกิดขึ้น แต่ในการปกครองประเทศนายพล Habyarimna ได้ปกครองประเทศโดยใช้นโยบายการเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบ (Policy of Systematic Discrimination) ต่อชาว Tutsi โดยนายพล Habyarimna มองว่าทุกพรรคการเมืองเป็นพรรคที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายยกเว้นเพียงแต่พรรคของตน และตลอดระยะเวลาที่ Habyarimna ปกครองประเทศนั้นมีชาว Tutsi ได้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆเป็นจำนวนที่น้อยมาก มีการห้ามมิให้ชาว Hutu สมรสกับชาว Tutsi และประชาชนทุกคนจะต้องพกบัตรประจำตัวที่ระบุเชื้อชาติไว้อย่างชัดแจ้งอยู่ด้วยเสมอ กระทั่งในปี ค.ศ.1990 ถึง ค.ศ.1993 รัฐบาลของนายพล Habyarimna ได้สังหารชาว Tutsi กว่า 2,000 คนด้วยเหตุผลที่อ้างว่าเป็นสมาชิกของ RPF

สถานการณ์ในรวันดาประทุขึ้นอย่างรุนแรงเมื่อปรากฏว่านายพล Habyarimna ถูกลอบสังหารโดยเครื่องบินถูกยิงตกโดยกองกำลังไม่ทราบฝ่าย เมื่อวันที่ 6 เมษายน ค.ศ.1994 แต่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของประธานาธิบดีเชื่อว่าเป็นการกระทำของ RPF จึงได้เริ่มมีการสังหารชาว Tutsi รวมไปถึงพวกที่มีแนวคิดตรงข้ามในทันที ในขณะที่ข้างฝ่ายกองกำลัง RPF ก็สบโอกาสในการบุกเข้าโจมตีกองกำลังฝ่าย Hutu ในเวลานั้นด้วยเช่นกัน ในช่วงเวลาสองสัปดาห์นับจากประธานาธิบดี Habyarimna เสียชีวิตมีชาว Tutsi ถูกสังหารไปอีกราวๆ 500,000 คน รวมตั้งแต่ ค.ศ.1990 ถึงค.ศ.1994 มีชาว Tutsi ถูกสังหารไป 800,000 – 850,000 คน อีกทั้งยังก่อให้เกิดคลื่นผู้อพยพที่ได้หลั่งไหลเข้าไปในประเทศใกล้เคียงไม่ว่าจะเป็น บุรุนดี แทนซาเนีย เคนยา อูกันดา อีกไม่ต่ำกว่า 2,000,000 คน

ความขัดแย้งดังกล่าวที่เกิดขึ้นได้ยุติลงด้วยชัยชนะของ RPF เหนือกองกำลังฝ่าย Hutu RPF จึงร่วมกับชาว Hutu หัวก้าวหน้าจัดตั้งรัฐบาลขึ้นปกครองประเทศเมื่อ กรกฎาคม ค.ศ.1994 และภายหลังจากความขัดแย้งยุติลง คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ได้มีข้อมติที่ 995 ตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศชั่วคราวขึ้นเพื่อพิจารณาความผิดของบรรดาผู้ที่มีส่วนในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาว Tutsi ในรวันดา

No comments: