Sunday, 25 April 2010

Crimes in the former Yugoslavia

อดีตประเทศยูโกสลาเวีย หรือที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่าสหพันธรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวีย (The Socialist Federal Republic of Yugoslavia: SFRY) เดิมเป็นประเทศที่กว้างใหญ่ที่สุดในคาบสมุทรบอลข่าน ประกอบไปด้วย 6 รัฐ คือ สโลเวเนีย (Slovenia) โครเอเทีย (Croatia) เซอร์เบีย (Serbia) บอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา (Bosnia-Hezegovina) มอนเตเนโก (Montenego)และมาซิโดเนีย (Macedonia) กับอีก 2 เขตปกครองตนเอง (autonomous region) คือโคโซโว (Kosovo) กับวอยโวดินา (Vojvodina)

ชนวนความขัดแย้งที่ก่อให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ขนานใหญ่ในดินแดนแห่งนี้ก็คือ ความแตกต่างทางชาติพันธุ์และศาสนา ที่แตกต่างกันออกไปเป็น 3 กลุ่มด้วยกันคือ ชาวเซิร์บซึ่งนับถือศาสนาคริสต์นิกายออโธดอกซ์ ชาวโครแอตซึ่งนับถือศาสนาคริสต์นิกายคาธอลิค และชาวสลาฟซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม ความขัดแย้งในดินแดนแถบนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่โบราณในสมัยที่อาณาจักรออตโตมันได้เข้ามาครอบครองเซอร์เบีย โดยชาวเซิร์บมีความรู้สึกว่าพวกตนตกเป็นเหยื่อความรุนแรงของชาวสลาฟและชาวโครแอตเรื่อยมา ดังเช่นในช่วงปี ค.ศ.1939 ได้ปรากฏว่ามีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวเซิร์บไปเป็นจำนวนมาก และในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองรัฐบาลหุ่นเชิดของนาซีเยอรมันในโครเอเทียก็ได้สังหารชาวเซิร์บไปอีกเป็นจำนวนนับแสนคน

ต่อมาเมื่อ จอมพลโจซิพ บรอส ติโต (Josip Broz Tito) ได้ขึ้นปกครองยูโกสลาเวียด้วยระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์ความขัดแย้งดังกล่าวก็ได้ลดน้อยลงไปใน แต่ภายหลังจากการถึงแก่ อสัญกรรมของจอมพลติโตในปี ค.ศ.1980 กอร์ปกับการล่มสลายของโซเวียต ในปี ค.ศ.1991 ส่งผลให้ความตึงเครียดของ 3 เชื้อชาติและศาสนาปะทุขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ยูโกสลาเวียได้ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างหนัก ทำให้สโลเวเนียและโครเอเทียซึ่งเป็นรัฐที่มีเศรษฐกิจดีและเป็นรัฐที่คอยเกื้อหนุนเศรษฐกิจโดยรวมของยูโกสลาเวีย มีความคิดที่จะแยกตัวออกเป็นอิสระเพื่อลดภาระทางเศรษฐกิจของตน ในขณะที่เซอร์เบียและมอนเตเนโกที่มีเศรษกิจที่ไม่ดีกลับมีความคิดที่ต้องการจะรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การสวนทางกันของความคิดดังกล่าวได้ขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ กอร์ปกับกระแสสิทธิมนุษยชนและสิทธิในการปกครองตนเองของระบบเสรีประชาธิปไตยได้หลั่งไหลเข้ามาในดินแดนแห่งนี้ ทำให้เกิดความแตกแยกในพรรคคอมมิวนิสต์ที่ปกครองยูโกสลาเวียอยู่ในขณะนั้นเสียอำนาจปกครองในโครเอเทีย บอสเนีย และมาซิโดเนียไป เป็นผลให้ในวันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ.1991 สโลเวเนีย และโครเอเทียได้ประกาศเอกราชจากยูโกสลาเวีย และต่อมาในวันที่ 8 กันยายน ค.ศ.1991 มาซิโดเนียก็ได้ประกาศเอกราชตาม

แต่เพียงสองวันนับจากการประกาศเอกราชของสโลเวเนียสงครามก็ประทุขึ้น โดยกองทัพประชาชนยูโกสลาฟ (Yugoslav People’s Army) ภายใต้การสั่งการของประธานาธิปดี สโลโบดัน มิโลเซวิค ได้เข้าโจมตีสโลเวเนีย สโลเวเนียจึงประกาศสงครามกับยูโกสลาเวีย เซอร์เบีย มอนเตเนโก โคโซโว และวอยโวดินา ซึ่งอยู่ภายใต้ควบคุมของเซอร์เบีย โดยในการทำสงครามนี้ก็เพื่อจุดมุ่งหมายในการแย่งชิงดินแดนให้มากที่สุด และจะได้นำดินแดนที่ชาวเซิร์บครอบครองอยู่อย่างกระจัดกระจายอยู่มารวมเข้าเป็นดินแดนเซอร์เบียประเทศแม่ เพื่อนำไปสู่การเป็น “The Greater Serbia”

ระหว่างการทำสงครามนั้นชาวเซอร์เบียได้นำเอานโยบาย “การชำระล้างเผ่าพันธุ์” (Ethnic Cleaning) มาใช้กับชาวสลาฟและชาวโครแอตในดินแดนโครเอเทีย โดยในการดำเนินนโยบายดังกล่าวชาวเซิร์บได้ขับไล่ชาวมุสลิม และกวาดต้อนไปกักขังในค่ายกักกัน และได้ทารุณกรรมต่างๆนาๆในค่ายกักกันนั้น ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายร่างกายชาวมุสลิมจนพิการ การสังหารด้วยวิธีการอันโหดร้าย เช่น การให้ชาวมุสลิมวิ่งหนีอย่างกระจัดกระจายแล้วยิงคนที่กำลังวิ่งหนีเหล่านั้นหรือการสังหารโดยการสุ่มเรียกชื่อ นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าได้มีการตั้งค่ายข่มขืนกระทำชำเรา (Rape Camp) ขึ้น เป็นเหตุให้มีเด็กหญิง และสตรีชาวมุสลิมถูกข่มขืนไปไม่ต่ำกว่า 60,000 คน โดยในจำนวนนี้บางรายถูกข่มขืนจนกระทั่งเสียชีวิต บ้างก็ถูกข่มขืนจนกระทั่งเห็นได้ว่าตั้งครรภ์ นอกจากนี้ในขณะที่ข่มขืนสตรีชาวมุสลิมยังได้มีการบันทึกภาพเพื่อทำเป็นภาพยนตร์ และให้สตรีนั้นๆสารภาพว่าได้ถูกข่มขืนจริง กระบวนการข่มขืนนี้เรียกว่า “Systematic Rape” เป็นเหตุให้สตรีมุสลิมกว่า 25,000 รายตั้งครรภ์ และทารกที่จะเกิดขึ้นนั้นจะไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมมุสลิม กลายเป็นเด็กที่ไม่เป็นที่ต้องการ (unwanted children) และก่อให้เกิดเป็นความด่างพร้อยทางเชื้อชาติ ซึ่งถือได้ว่าเป็นมาตรการที่การทำลายความบริสุทธิ์ทางเชื้อชาติและศาสนาที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง

ภายหลังจากเหตุการณ์สงบลง คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้มีข้อมติที่ 883 ให้จัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศชั่วคราวขึ้นเพื่อพิจารณาคดีต่อบุคคลที่ได้กระทำการอันเป็นการละเมิดต่อหลักสิทธิมนุษยชน และหลักกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศในดินแดนอดีตประเทศยูโกสลาเวียนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ค.ศ.1991 เป็นต้นมา ซึ่งการดำเนินคดีของศาล ยูโกสลาเวียนี้ยังคงดำเนินอยู่จนกระทั่งในปัจจุบัน

No comments: