Saturday, 26 April 2008

Mobile Phone

โทรศัพท์มือถือของหนู มันดูหรูไปรึเปล่า

โนเกีย ซัมซุง อิริคสัน ไอโมบาย เรื่อยไปจนถึงไอโฟน โอ๊ย!!!! ช่างตัดสินใจเสียยากยิ่งกระไร ว่าโทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่ของผม/หนูควรจะเป็นเทคโนโลยีใหม่ทันสมัยภายใต้แบรนด์หรือยี่ห้อใดดี ที่จะทำให้สะดุดตาทุกครั้งที่เห็น สะดุดหูทุกทีที่มีเสียงโทรเข้าดัง แถมสะดุดกระเป๋าสตางค์ที่จะใช้ควักจ่ายเพื่อแลกกับกรรมสิทธิ์ที่จะได้มา?????

เกิดคำถามและข้อสงสัยมากมายขึ้นในใจทุกครั้งในการที่จะซื้อมือถือมาเป็นเจ้าของสักเครื่อง โดยเฉพาะกับบรรดานักเรียนไต่ระดับขึ้นมาตั้งแต่อนุบาลสอง ครั้งเมื่อเริ่มเรียกชื่อเพื่อนในห้องนอนตอนหลังรับประทานอาหารกลางวันเสร็จ เด็กประถมที่ต้องใช้โทรถามเพื่อนๆ ว่าพรุ่งนี้ตกลงต้องใส่ชุดลูกเสือไหม พรุ่งนี้วิชาพละมีสอบเหรอ จนกระทั่งถึงระดับมัธยมที่มักจะใช้โทรนัดกันไปกินหมูกระทะสุดสัปดาห์ โทรศัพท์มือถือจึงกลายเป็นปัจจัยในชีวิตประจำวันอีกประการหนึ่งที่ทุกคนต่างมุ่งหวังสักครั้งที่จะเอามาเป็นเจ้าของ แต่น้องๆ รู้ไหมว่าตามกฎหมายการขอเงินพ่อแม่ไปซื้อโทรศัพท์มือถือเองนั้น มันสามารถทำได้จริงๆเหรอ

สำหรับประเด็นการซื้อโทรศัพท์มือถือของน้องๆ นักเรียนทั้งหมายนั้น มีเรื่องที่น่าคิดอยู่หลายประการด้วยกัน

คือประการที่หนึ่ง น้องๆนักเรียน โตเป็นผู้ใหญ่พอที่จะซื้อโทรศัพท์มือถือหรือยัง

ประเด็นที่สอง น้องๆ นักเรียนสามารถทำสัญญาซื้อขายได้เพียงใด

ประเด็นที่สาม โทรศัพท์มือถือเป็นเทคโนโลยีที่จำเป็นต้องมีไว้เป็นเจ้าของสักปานใด

ประเด็นที่สี่ หากอยากซื้อโทรศัพท์ต้องทำอย่างไร

ประการที่หนึ่ง น้องๆนักเรียน โตเป็นผู้ใหญ่พอที่จะซื้อโทรศัพท์มือถือหรือยัง
ตามกฎหมายนั้นเด็กๆทุกคนที่เกิดขึ้นมาและยังมีอายุไม่ถึงยี่สิบปีบริบูรณ์ (คือยังไม่ครบรอบวันเกิดปีที่ยี่สิบ) ดังนั้นแม้ว่าเด็กนั้นจะร่างกายกำยำสูง ต่ำ ดำ ขาวสักปานใด ตามกฎหมายก็ยังถือว่าเป็นผู้เยาว์อยู่ดี การเป็นผู้เยาว์จะหมายความว่าอย่างไรนั้น เรามาลองดูกัน ตามกฎหมายไทย ถือว่าผู้เยาว์นั้นเป็นผู้เยาว์วัย เยาว์ประสบการณ์ คือไม่รู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมทางธุรกิจ ไม่รู้เท่าทันคน และไม่รู้เท่าทันโจร หรือยังไม่โตเป็นผู้ใหญ่เพียงพอที่จะดูแลตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือยังไม่สามารถรับผิดชอบต่อตัวเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง

ประเด็นที่สอง น้องๆ นักเรียนสามารถทำสัญญาซื้อขายได้เพียงใดกฎหมายจึงกำหนดว่าการที่ผู้เยาว์จะไปทำสัญญาซื้อของ ขายของอะไรทั้งหมายนั้นจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมเสียก่อน (ในที่นี้ก็คือพ่อ แม่ หรือผู้อุปการะเลี้ยงดู) ถึงจะทำได้ เว้นเสียแต่ว่าเป็นสัญญาที่ทำไปเพื่อดำรงชีพ เช่น ซื้อข้าว ซื้อน้ำ ซื้อก๋วยเตี๋ยว เป็นการทำสัญญาที่ทำไปสมตามฐานะ เช่น เด็กมัธยมคิดจะซื้อรองเท้าผ้าใบ ซื้อเสื้อผ้า หรือกระเป๋าที่ราคาพอสมควร ก็พอที่จะทำได้โดยไม่ต้องขอความยินยอมจากพ่อแม่ แต่อย่างใดแต่หากเราประสงค์จะทำสัญญาซื้อของสักชิ้นที่มีราคาสูง หรือเกินความจำเป็นในการดำรงชีวิตนั้น ตามกฎหมายเราต้องขอพ่อแม่ก่อน ถ้าพ่อแม่อนุญาตก็ซื้อได้ หรือให้ดีพาพ่อแม่ไปซื้อด้วยเลยยิ่งดี จะได้ไม่ต้องเสียเงินเอง

ประเด็นที่สาม โทรศัพท์มือถือเป็นเทคโนโลยีที่จำเป็นต้องมีไว้เป็นเจ้าของสักปานใดโทรศัพท์มือถือปัจจุบันมีราคา ตั้งแต่พันต้นๆ จนถึงหลายหมื่นบาท สุดแต่ว่าเทคโนโลยีนั้นจะล้ำหน้าเพียงใด ว่าแต่โทรศัพท์มือถือนั้นสำคัญในการดำรงชีวิตในปัจจุบันเพียงใด สำหรับประเด็นนี้เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล บางคนจำเป็นต้องติดต่อสื่อสารจริงๆ บางคนมีไว้พอเท่านั้นเพราะไม่ได้เติมเงิน เอาไว้รับอย่างเดียว แต่บางเครื่องมีแต่เครื่องอย่างเดียว เพราะยังไม่มีเงินซื้อซิม ดังนั้นการตัดสินใจเรื่องความจำเป็นนี้คงต้องพิจารณาการใช้ประโยชน์ของแต่ละคนเป็นสำคัญ

ประเด็นที่สี่ หากอยากซื้อโทรศัพท์ต้องทำอย่างไรหากโทรศัพท์สำคัญในการดำรงชีวิตของเรา การจะซื้อโทรศัพท์สักเครื่อง จะเป็นไปได้เพียงใด ในเรื่องนี้กฎหมายไม่ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนในเรื่องการซื้อโทรศัพท์ หากแต่กำหนดไว้กว้างๆว่า หากผู้เยาว์จะซื้อทรัพย์สินใดที่เกินฐานะของผู้เยาว์แล้ว ไม่ว่าด้วยราคา หรือการใช้ประโยชน์ ผู้เยาว์ก็ต้องขออนุญาตพ่อแม่ก่อนซื้อ เพราะหากเราไปซื้อโทรศัพท์มือถือราคาสัก สองหมื่นบาท โดยไม่บอกพ่อแม่แล้ว พอพ่อแม่รู้ในภายหลังพ่อแม่อาจเอาโทรศัพท์ไปคืนและขอเลิกสัญญาก็ได้

ดังนั้นหากเราต้องการซื้อโทรศัพท์มือถือสักเครื่อง วิธีที่ดีที่สุดคงจะเป็นการให้พ่อแม่ซื้อให้เราจะดีกว่า ลองทำตัวดีๆ แล้วขอพ่อแม่ดูสักที พ่อแม่ก็คลจะเห็นใจซื้อให้สักเครื่อง แต่ทั้งนี้อย่าลืมเลือกรุ่นให้เหมาะกับการใช้งานของเราก็แล้วกัน อย่าลืมว่า โทรศัพท์มีไว้ก็เพื่อพูดคุยสื่อสาร การถ่ายรูปก็ต้องใช้กล้อง การเล่นอินเตอร์เน็ตก็ต้องใช้คอมพิวเตอร์ มันเป็นเหคุและผลอยู่แล้ว ดังนั้นไม่ยากเลยหากจะมีมือถือที่เหมาะกับการใช้ประโยชน์จริงๆ สักเครื่อง

No comments: