Tuesday, 14 December 2010

ความเจริญรุ่งเรืองของการศึกษาไทย

รู้น้อยว่ารู้มาก เริงใจ
กลกบเกิดอยู่ใน สระจ้อย
ไป่เคยเห็นชเลไกล กลางสมุทร
ชมว่าน้ำบ่อน้อย มากล้ำ ลึกเหลือ

(โคลงโลกนิติ)













ผมห่างหายไปจากการเขียนเรื่องราวความเป็นไปในชีวิตของผม ตั้งแต่กลับมาอยู่เมืองไทยไประยะหนึ่ง แต่สิ่งที่ปลุกให้ผมต้องลุกขึ้นมาระบายอะไรบ้างวันนี้ ก็คือเรื่องของการศึกษาของบ้านเรา

ก่อนอื่นใด ผมกล้ายอมรับได้เต็มปากว่าโอกาสในชีวิตของผมที่ได้รับการหยิบยื่นเข้ามานั้น ล้วนแต่มีปัจจัยหลายประการ แต่สำคัญประการหนึ่งก็คือการที่เรียกว่าผมได้ภาษาอังกฤษ โลกภายนอกทั้งในประเทศไทย และในต่างประเทศที่ผมได้ไปใช้ชีวิตอยู่มาระยะหนึ่งสอนให้ผมได้รู้ว่า การเรียนรู้ของคนนั้นมันมีประตูอยู่สองบาน ประตูบานแรกก็คือประตูแห่งการรู้ และประตูบานที่สองคือประตูแห่งความเข้าใจ

ประตูแห่งการรู้ คือประตูบานแรกที่เราเปิดรับสิ่งต่างๆ ภายนอก เป็นการที่เราจะเปิดใจรับรู้ และยอมรับสิ่งต่างๆ ภายนอกที่เข้ามา ส่วนประตูแห่งความเข้าใจ ก็คือการเข้าใจในสิ่งที่เรารับรู้ ในสิ่งที่เขาพูด ซึ่งในที่นี่ก็คือความสำคัญของภาษาเพราะว่าหากเราเปิดใจยอมรับแล้ว แต่กลับไม่เข้าใจสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาเลยเพียงเพราะว่าเราไม่รู้ว่าเขาพูดอะไรกัน ด้วยเหตุผลที่ว่าเพราะมันไม่ใช่ภาษาของเรา ดังนั้นความสำคัญของภาษาโดยเฉพาะภาษาอังกฤษซึ่งถือว่าเป็นภาษากลางในการสื่อสารทั่วโลก จึงมีมากนัก

แต่ก่อน ผมมักได้ยินคนพูดกันเสมอ ว่าเราเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคนี้ที่ไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศมหาอำนาจตะวันตก สิ่งนี้ทำให้เราอหังการ และถือว่าเราแน่มาก ดังนั้นเมือได้ยินเสียงเปรยถึงมาตรฐานภาษาอังกฤษของคนไทยที่ไม่ใคร่จะสูงนัก เราก็มันจักแย้งเสมอว่าก็เพราะว่าเราไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นฝรั่ง เหมือนประเทศรอบๆ เรา (ผมได้ยินคำแย้งลักษณะนี้บ่อยมาก ในช่วงวัยเด็กของผม)

แต่ปัจจุบันยุคแห่งการล่าอาณานิคมได้จบสิ้นไปแล้ว ยุคแห่งประกาศเอกราช และการสร้างชาติได้ผ่านไปแล้ว มันเป็นยุคแห่งการขับเคลื่อนประเทศชาติไปตามสังคมโลกที่มีพลวัตไปอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การสร้างอัตตาอย่างมากมายในตัวเองที่ว่าเราเก่งกล้าสามารถ ดีกว่าผู้อื่น หรือการเก่งแต่เพียงคนเดียว คงจะอยู่ได้ยากในปัจจุบัน

หากแต่เราจะต้องเดิน หรือวิ่งตามโลกที่เจริญรุดหน้าไปเรื่อยๆ ทั้งวิทยาการและเทคโนโลยี ดังนั้น บทบาทของการศึกษาจึงทวีความสำคัญขึ้นอย่างมาก ซึ่ง ณ ปัจจุบันเราคงไม่อาจปฏิเสธความสำคัญของภาษาโดยเฉพาะภาษาอังกฤษไปได้อีกเช่นกัน เพราะว่าศิลปวิทยาการต่างๆ ตลอดจนการติดต่อสื่อสารที่ต้องอาศัยภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลางมีเกิดขึ้นอย่างมากมายมหาศาล

สำหรับประเทศไทยแล้ว เรื่องนี้ก็มีความสำคัญอย่างมากทีเดียว จนกระทั้งเจ้ากระทรวงอย่าง นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รมว.ศธ. วางแผนที่จะประกาศให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองในการเรียนการสอนทีเดียว ทั้งนี้เนื่องจากเจ้ากระทรวงเห็นว่าการสร้างพลเมืองยุคใหม่ที่เก่ง ดี มีความสุข และที่สำคัญต้องสามารถแข่งขันได้ในสังคมโลก จุดยืนในเรื่องนี้ของกระทรวงจึงควรได้รับการผลักดันอย่างเต็มที่

ผมเห็นด้วยกับจุดยืนดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง

แต่ทว่าสิ่งที่มำให้ผมไ่ม่ใคร่จะเข้าใจก็คือ ในเวลาต่อมา ศธ.ได้ประกาศลดการยกระดับภาษาอังกฤษเป็นเพียงภาษาต่างประเทศ มิใช่ ภาษาที่สองของไทย โดยให้เหตุผลว่า เป็นเรื่องอ่อนไหวต่อความเข้าใจของประชาชน และต่อหน่วยงานต่างๆ ที่จะรับแนวทางไปปฏิบัติ เพราะในทางการเมืองแล้ว การประกาศให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง จะนำไปสู่ความเข้าใจว่าประเทศที่ประกาศตามแนวทางดังกล่าวเป็นประเทศที่เป็นเมืองขึ้น หรือประเทศอาณานิคมมาก่อน

ผมกลับเห็นว่าตรรกะของคนในกระทรวงนี้ดูจะแปลกดีเสียนี่กระไร ไอ้เรื่องไม่เห็นด้วยเรื่องการยกระดับภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองนั้น ผมไม่อาจไปก้าวก่าย เพราะเป็นเรื่องของความคิดเห็นส่วนบุคคล ที่อาจมีเหตุผลส่วนบุคคลที่มเื่อบอกออกมาแล้วอาจได้รับการตอบสนองเป็นการพยักหน้าหรือส่วยหน้า ก็ไม่อาจทราบได้

แต่เหตุผลที่ยกว่าการนั้นจะเป็น"การะนำไปสู่ความเข้าใจว่าประเทศที่ประกาศตามแนวทางดังกล่าวเป็นประเทศที่เป็นเมืองขึ้น หรือประเทศอาณานิคมมาก่อน" นี่นะสิน่าคิด เพราะหากการศึกษาของประเทศเราสามารถสอนให้เด็กเข้าใจได้ว่าการเรียนและการรู้ภาษาอังกฤษเป็นสิ่งที่สำคัญมากในปัจจุบัน เป็นเพราะประเทศเราเคยตกเป็นเมืองขึ้นฝรั่งมาก่อนได้นั้น ผมคิดว่าระบบการศึกษาของประเทศไทยมันคงหายนะ ครูอาจารย์คงต้องกลับไปนั่งคิดแล้วหละครับ เพราะมันคงไม่ได้เป็นผลสะท้อนความล้มเหลวจากการเรียนวิชาภาษาอังกฤษ แต่ยังรวมไปถึงวิชาสังคมศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ภาษาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งก็คงหมายถึงความล้มเหลวไม่เป็นท่าของระบบการศึกษาไทย

ดังนั้นการศึกษาของเด็กไทย ที่สอนให้เด็กอยู่ภายในกะลา ก็คงไม่ทำให้เราคิดอะไรได้มากไปกว่า "ในกะลาคือโลกกว้างใหญ่" และระบบการศึกษาไทยก็จะยังคงล้าหลังอยู่อย่างนั้นแหละ

ว่าแต่ว่าผมกลับสงสัยว่า "ทำไมหนอคนใหญ่คนโตที่อายุอานามก็ปาเข้าไป 50-60 ปี ในบ้านเราถึงคิดได้ขนาดนี้"

คำตอบอาจจะยาก เพราะว่าเราไม่อาจเข้าใจปรัชญาการศึกษาอันลึกซึ้งของคนเหล่านั้นได้" หรือไม่คำตอบก็อาจจะง่ายมากเพียง "เพราะว่าระบบการศึกษาของไทยมันคงล้มเหลวมา 50 -60 ปีแล้วกระมังครับ" และกะลาใบนี้มันก็คงเก่าแก่จนผุกร่อน เพราะว่าใช้ตกทอดกันมาเสียหลายยุคหลายสมัยเป็นแน่แท้

ขอสงบนิ่ง ไว้อาลัยให้ระบบการศึกษาไทยสักหนึ่งนาที...............


No comments: