การแสดงความเคารพตามขนบธรรมเนียมประเพณีของคนไทยนั้น มีอยู่มากมายหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับกาละและเทศะที่ผู้นั้นจะแสดงความเคารพนั้น
ตั้งแต่เด็กผมจำได้ว่าผมไม่เคยกราบเท้าพ่อและแม่เลย (ถ้านับข้ามๆ งานวันพ่อวันแม่ที่ทางโรงเรียนจัดขึ้น) บางทีแอบอิจฉาหลายคนที่มีโอกาสเหล่านั้น
ผมเคยคิดหาโอกาสอยู่หลายครั้งมากว่า เราจะถือโอกาสไหนดีหนอที่จะกราบเท้าพ่อและแม่ได้ บางคนอาจไม่ต้องคิดมากเช่นผม แต่อย่างที่เคยบอกครั้งแรกในการทำทุกสิ่งมักต้องคิดมากเสมอแหละ จริงไหม?
จวบจนกว่า 20 ปีผมก็ไม่เคยกราบเท้าพ่อและแม่อย่างเป็นทางการเสียที จนกระทั่งเมื่อปีพ.ศ. 2547 ผมได้เข้าบวชที่อุโบสถ วัดญาณเวศกวัน โดยมีพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) หรือพระธรรมปิฎก (ในขณะนั้น) เป็นพระอุปัจฌายะ
นอกจากการบวชครั้งนี้จะเป็นการบรรพชาครั้งแรกของผมแล้ว ยังถือเป็นโอกาสที่ผมจะได้กราบเท้าผู้มีพระคุณคือ พ่อและแม่อย่างเป็นทางการอีกด้วย
การกราบเท้าพ่อแม่ เป็นความรู้สึกที่ไม่สามารถบรรยายออกมาเป็นคำพูดได้จริงๆ นะครับ แต่ผมขอบอกได้เลยว่ามันเป็นมงคลแก่ชีวิตอย่างยิ่ง (จำได้ว่าไม่เพียงแต่ผมเท่านั้นที่น้ำตาไหล แต่พ่อและแม่ผมก็เช่นกัน)
จากนั้นผมก็มีโอกาสอีกครั้งตอนสึกจากเพศบรรพชิต ผมมีโอกาสที่จะกราบเท้าพ่อและแม่อีกครั้ง
จากเหตุการณ์ทั้งสองที่ผมหยิบยกขึ้นมานี้ ทำให้ผมรู้และเข้าใจสิ่งหนึ่งขึ้นมา ก็คือ การแสดงความเคารพนั้นต่อพ่อแม่นั้น ท่านทั้งสองไม่ได้เพียงรับรู้โดยการกระทำทางกายเท่านั้น แต่ท่านจะรับรู้ถึงสิ่งที่อยู่ในจิตใจของลูกของท่านด้วยเสมอ
อยากให้ทุกคนแสดงความเคารพ ความรัก ความห่วงใยพ่อแม่ของทุกคนมากๆ และบ่อยๆ เท่าที่มีโอกาส
ดังพุทธพจน์ที่ว่า "ปูชา จะ ปูชนียานัง เอตัมมัง คะละมุตตะมัง" "การบูชาคนที่ควรบูชา ถือเป็นมงคลแก่ชีวิตอย่างยิ่ง"
No comments:
Post a Comment