"ชีวิตคนเราดำเนินไปตามเหตุปัจจัยหลายประการที่ประกอบเข้าด้วยกัน" ถ้าผมพูดแค่นี้ คาดว่ามีหลายคนที่เข้าใจ แต่ในทางกลับกันหลายคนก็อาจไม่เข้าใจว่าผมพูดอะไร????
ครั้งแรกที่ผมเริ่มคิดว่าหลักธรรมในพระพุทธศาสนา มีอะไรมากกว่าที่ผมรู้มาตั้งแต่เด็กว่าคือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับผมราวๆ เดือน เมษายนถึงพฤษภาคม 2546 ที่วัดญาณเวศกวัน วันนั้นผมมีปัญญาที่สุมอยู่ในใจค่อนข้างมาก เพื่อนผมชวนไปวัดญาณฯ ครั้งแรก วันนั้นที่วัดผมได้นั่งฟังธรรมะบรรยายเรื่อง ปฏิจจสมุปปบาท จากพระอาจารย์ครรชิต คุณวโร
ผมนั่งฟังวันนั้น ผมขอบอกว่าผมไม่รู้เรื่องเลยสักนิดเกี่ยวกับหลักธรรมที่ท่านบรรยาย แต่ผมกลับฉุกคิดจากตัวอย่างง่ายๆ เพียงตัวอย่างเดียว คือ
"ช่างไม้ได้ทำเก้าอี้ไม้ขึ้นมาตัวหนึ่ง คนพากันไปทดลองนั่งแล้วก็ชมช่างไม้ว่าทำเก้าอี้ได้ดี นั่งแล้วมั่นคงแข็งแรง ไม่โยกเยก ดังนี้ จริงๆ แล้วการที่เก้าอี้ตั้งอยู่ได้อย่างมั่นคงแข็งแรงนั้น หาใช่เป็นเพียงเพราะการที่ช่างไม้คำนวณอย่างแม่นยำ ประกอบอย่างถูกต้อง เท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยอื่นประกอบอีก เช่น แรงดึงดูดของโลกที่ดูดเก้าอี้ไว้กับพื้น ไม่ล่องลอยในอากาศ หรือน้ำหนักของคนที่นั่ง"
ใครจะเชื่อหรือไม่ก็ตาม หลังจากผมฟังตัวอย่างแล้ว ผมจึงคิดได้ว่าปัญหาที่รุมเร้าผมในขณะส่วนใหญ่ไม่ได้ขึ้นกับตัวผม ผมจึงค่อยๆ ขบคิดและปล่อยวางลงไปที่ละน้อย จนกระทั่งปัญหาเหล่านั้นมากระทบจิตใจผมไม่ได้เลยในเวลาต่อมา อย่างที่เขาว่ากันว่า เวลาผงเข้าตาเขี่ยตาตัวเองอย่างไรผงก็ไม่ยอมออกซะที ต้องให้คนอื่นเขี่ยให้
จากเหตุการณ์นี้ผมได้คิดว่า ทุกเรื่องล้วนแต่มีเหตุปัจจัยที่ต่างกันหลายประการ ดังนั้นพึงควรทำเหตุปัจจัยให้ถึงพร้อม เพื่อความสำเร็จของการงานที่ทำ จะเป็นแนวทางที่ไม่ประมาท และทำให้งานนั้นประสบความสำเร็จ
จากวันนั้นทำให้ผมค่อยๆ ศึกษาธรรมะอย่างเข้าใจ มากกว่าท่องจำ กระทั่งได้เข้าบรรพชาที่วัดญาณฯ แห่งนั้นนั่นเอง
No comments:
Post a Comment