Thursday, 29 May 2008

My Sister

เคยไหมครับเวลาที่เรานัดไปไหนต่อไหนกับเพื่อนแล้วเราอยากไปมากๆ แต่พอไปเจอเพื่อนกลับหอบเอาน้องเอย หลานเอยมาด้วย หมายคนคงจะหมดสนุกไปเพราะว่ามีคนอื่นเข้ามาแจมเรื่องราวต่างๆ ด้วย ผมก็เคยมีประสบการณ์นี้

วันนี้ผมคิดถึงความทรงจำในวัยเด็กอย่างหนึ่ง เลยอยากมาแชร์ให้ฟัง

ผมเป็นน้องชายคนเล็กมีพี่สาวหนึ่งคน พี่ชายหนึ่งคน ตลอดเวลาตั้งแต่ย้ายเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ กับพี่ๆ พี่ๆก็ทำหน้าที่แทนพ่อแม่ของผมเสมอๆ

ตอนเด็ก ที่ผมเข้ามาอยู่กรุงเทพใหม่ ผมไม่รู้จักถนนหนทาง ขึ้นรถเมล์ก็ไม่เป็น แถมยังเด็กเกินไปที่จะไปไหนต่อไหนเพียงลำพัง เพื่อนก็ยังไม่มี เหมือนบ้านนอกเข้ากรุงทีเดียว

การที่จะออกไปทำกิจกรรมภานนอกในวันหยุดก็คือ การออกไปข้างนอกกับพี่ๆ

แต่อย่างที่บอกเวลาที่เราจะไปไหนก็ต้องติดสอยห้อยตามพี่ไปเสมอๆ โดยเฉพาะพี่สาวผม ทุกครั้งที่เจ๊นุ้ยมีธุระ นัดกับเพื่อนๆ เจ้นุ๊ยมักจะหอบเอาผมไปด้วยเสมอๆ เพื่อให้น้องคนนี้ได้ออกไปพบปะผู้คนบ้าง จนผมแทบจะรู้จักเพื่อนๆ ของพี่สาวไปหมดแล้ว

ผมคิดว่าหลายคน หรือแม้กระทั่งพี่สาวผม เพื่อนพี่สาวผม คงคิดอยู่บ้างแหละว่าผมเป็นส่วนเกินหรือเปล่าเวลาที่เราอยู่กับเพื่อนๆ แต่พี่สาวผมยังคงพาผมไปโน่นนี่ด้วยตลอด แทนที่จะออกไปเพียงลำพังแล้วทิ้งให้ผมอยู่บ้านดูหนังไปคนเดียว กลับพาผมไปไปแนะนำสถานที่ใหม่ๆ คนใหม่ๆ ให้รู้จัก โดยไม่เคยแสดงให้เห็นเลยว่าผมเป็นภาระที่เขาต้องคอยดูแล

คิดถึงเรื่องนี้ทีไร ผมภูมิใจในตัวพี่สาวผมคนนี้ทุกที "รักเจ๊นุ้ยนะครับ"

Vaccines

ตอนแรกที่ตัดสินใจเลี้ยงสุนัขเนี่ยะก็เพราะว่าต้องการที่จะมีไว้เป็นเพื่อน และเอาไว้เฝ้าบ้าน เริ่มจาก 1 ตัว มาเรื่อยๆ จนกระทั่ง ครบ 4 ตัวในปัจจุบัน

แต่ต่อมาสิ่งที่ทำร้ายจิตใจผู้เลี้ยงสุนัข มากนักก็คือค่าใช้จ่าย ทั้งค่าอาหาร ค่าขนม และที่สำคัญค่ารักษาพยาบาลสุนัขนะสิ

ทุกๆ Summer นอกจากอากาศจะร้อนแล้ว ผมยังต้องเตรียมเงินเอาไว้ชำระค่ารักษาพยาบาล ค่าการฉีดวัคซีนสุนัขทุกปีก็อักโขอยู่

ทั้งนี้อย่างที่เคยเล่าไป หมาผมไอ้ตัวเล็กมันก็เล็ก แต่ไอ้ตัวใหญ่มันก็ใหญ่นะสิ จะเอาไปคลินิกก็ลำบาก เพราะเคยเอาไปฮ็อกกี้สุนัขพันธุ์เกรตเดนต้องนอนยาวตลอดเบาะหลังรถยนต์เลยทีเดียว

อีกทั้งถ้าให้หมอมาฉีดให้ที่บ้านก็แพงแสนแพง ทั้งวัคซีนรวมและกันพิศสุนัขบ้า ซึ่งที่เคยจ่าย 4 ตัวรวมเกือบ 2,000 บาทเลยนะ

ดังนั้น "แนวคิดใหม่" จึงบังเกิด ก็คือการที่ไปซื้อวัคซีนมาฉีดเองนะสิ "บรรเจิดมั๊ย??"

การดำเนินการจึงเริ่มจากการไปติดต่อซื้อวัคซีนที่ร้านขาย แล้วก็ต้องไม่ลืมซื้อเข็มฉีดยามาด้วย

ไอ้วัคซีนที่ซื้อนี่ก็ต้องอยู่ในความเย็นตลอดเวลา แถมร้านขายยาก็อยู่ตั้งสะพานควาย กว่าจะกลับมารังสิต สงสัยเชื้อโรคในวัคซีนคงจะตายเป็นแน่แท้ แม้ว่าทางร้านจะโปะน้ำแข็งมาให้ก็ตาม แต่ก็อย่างที่รู้อากาศเมืองไทยเนี่ยะ เย็นตายละ

ดังนั้น ความคิดจึงบังเกิดด้วยการเอาวัคซีนใส่ในกระบอกน้ำรักษาอุณหภูมิของผมและเอาน้ำแข็งใส่ลงไป ก่อนจะรีบกระเตงเอายากลับบ้าน

กลับมาถึงบ้าน การฉีดยาก็เริ่มขึ้น อย่างแรกผมไม่เคยฉีดยาหมามาก่อน ก็เอาทฤษฎีจากเพื่อนำที่เป็นสัตวแพทย์บอกให้มาใช้ปฏิบัติ ก็เลยรู้ว่าการฉีดยาเองไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน เพราะมันไม่ใช่หุ่นที่จะยอมยืนนิ่งๆ ให้เราเอาเข็มแทงมัน ต่างก็กระโดดไปมาอย่างกับม้านิลมังกร อึ๋งอั๋ง ดึ๋งดั๋ง กับจ้าละหวั่น

ผมก็บรรจงฉีดยาทุกตัวรวม 8 เข็ม อย่างถ้วนหน้า

สรุปการจัดการครั้งนี้ เอาค่ายา บวกค่ารถ ไม่รวมค่าเสียเวลา หมดไป 400 บาท ประหยัดไปเกือน 1,500 บาท ก็โอเค

อย่างน้อยครั่งนี้ก็ได้ประสบการณ์การฉีดยาหมาขึ้นมาอีกอย่าง

Friday, 23 May 2008

Summer Institute IV (Finale)

ตอนแรกที่ตัดสินใจมาเรียนหลักสูตร Summer Institute on International Humanitarian Law and Human Rights ก็กะว่าน่าสนใจคงไม่น่าจะยากมาก เพราะเราก็พอมีความรู้อยู่บ้าง



แต่คิดผิดอย่างแรง ที่ว่าคิดผิดในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าไม่น่ามาเรียนเลย แต่หมายความว่าไม่เห็นง่ายอย่างที่คิดเลย



แค่วันแรกเอกสารก็มาเพียบหลายเล่มเลยที่ต้องอ่าน แล้วก็อย่างที่บอกว่าภาษาอังกฤษหลายหลายสำเนียงที่ปรากฎต้องใช้เวลาตลอดสองอาทิตย์เลยทีเดียวกว่าจะชิน พอชินก็จบคอร์สซะแระ!!!! เซร็ง


กะว่าคงจะเหมือนการบรรยาย สัมมนาในประเทศไทย ที่ไหนได้ต้องเสนอความคิดเห็นกันหน้าสลอนเลย จะว่าไปคนไทยอย่างเรามีรึจะยอมให้เสียหน้า แต่ว่าคิดไปคิดมาเงียบดีกว่า ซุ่มรอดูท่าทีก่อน


การบรรยายมีน่าสนใจบ้าง น่าเบื่อบ้าง แต่ในภาพรวมโอเคเลยแหละถือว่าคุ้มสุดๆ เพราะว่าได้พบเพื่อนใหม่มากมายกว่า 30คน จากหลากหลายประเทศ และยังได้รู้จักพูดคุยกับผู้พิพากษาระหว่างประเทศอีกหลายท่าน


ตอนแรกก็กะว่าสงสัยจะได้คุยแต่กับคนไทย 3 คนที่เข้าร่วม แต่ที่ไหนได้ เหมือนฟ้ากลั่นแกล้ง เพราะพอรวมกลุ่มทีไรเป็นอันต้องโดนจับแยกกันทุกทีไป


การสัมมนาใช่แค่ฟังน่ะสิ เพราะว่ามีงานกลุ่มที่ต้องทำร่วมกัน แล้วก็นำเสนอต่อวงสัมมนาด้วยเพื่อ Debate กัน โอ๋ย%++++


แถมครั้งแรกกลุ่มผมมีตั้ง 5 สัญชาติ ไทย อเมริกา กัมพูชา ฟิลิปปินส์ และติมอร์เลสเต ส่วนงานกลุ่มในสัปดาห์ที่ 2 มี 6 สัญชาติ ไทย กัมพูชา ฟิลิปปินส์ พม่า อินโดนีเซีย และอเมริกา แถมยังมีการจัด Simulation คือสถานการณ์จำลองให้เจรจายุติความขัดแย้งกันอีก ไม่ง่ายเล้ยยยยย


แต่จนบัดนี้ก็เสร็จเรียบร้อยแล้ว ผ่านไปได้ด้วยดี มีเพื่อนมากมายหลายประเทศเลย เสาร์อาทิตย์นี้ต้องนอนให้หายอยากเลย









Miss You All!!!

Wednesday, 14 May 2008

Summer Institute III

วันที่สามผ่านไปแล้ว................

วันนี้ตื่นก็สายแถมฝนตกอีกกว่าจะไปถึงรถก็ติด แต่ก็ไปทันเวลานะ

สำหรับการบรรยายวันนี้ถือว่าตรงกับที่ผมสนใจสุดแล้ว เป็นประเด็นปัญหาและทางปฏิบัติทางด้านอาญาระหว่างประเทศ จากผู้พิพากษาสามท่าน คือ

  1. Judge Motoo Noguchi- Supreme Court Chamber, Extraordinary Chambers in the courts of Cambodia
  2. Judge Lui Daqun-Appeal Chamber, International Criminal Tribunal for the Former Yugoslavia and
  3. Judge Jacinta Da Costa-Probational Judge, Court of Appeal, Timor Leste

สรุปแล้วก็ได้ข้อมูลเยอะพอตัวในการที่จะใช้เพื่อทำวิทยานิพนธ์ต่อไป

เผลอแป๊บเดียวก็เกือบครึ่งทางแล้ว ทนอด อดทน ต่อไปคร้าบบบบ

Tuesday, 13 May 2008

Summer Institute II

วันนี้เป็นวันที่สองแล้วในการเข้าร่วม Summer Institute วันนี้ขอบอกว่าผมเหนื่อยกับการเดินทางมากๆ ต้องตื่นขับรถมาแต่เช้า เพื่อรอเข้าเรียนตอนเก้าโมงเช้า เพราะว่าถ้าออกช้าอีกนิด รถติด มีหวังว่าสายชัวร์

วันนี้ช่วงเช้าเป็นการบรรยายเรื่อง Transitional Justice: Truth Commission โดย Assoc. Prof. Suzannah Linton จาก University of Hong Kong ตอนบ่ายเป็นการบรรยายเรื่อง Peace-building โดย Assoc. Prof. Dr.Chaiwat Satha-anand จาก Thammasat University

การเรียนวันนี้ รู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง แต่อย่างน้อยก็ได้วาทะของคานธีเกี่ยวกับเรื่องสันติภาพกลับบ้านมาละกันว่า "an eye for an eye, make the whole world blind"

พอแล้วน้า ง่วงมั่กๆ

Monday, 12 May 2008

Summer Institute I

ตอนนี้อาจไม่ค่อยพบหน้าคาดตาผมสักเท่าไหร่นะครับ เพราะว่าช่วงนี้ผมกำลังเข้าร่วม Summer Institute in International Humanitarian Law and Human Rights on the theme of "Asia-Pacific Transitional Justice and Peace Building" held in Bangkok on May 11-24, 2008, organized by U.C. Berkeley War Crimes Studies (University of California), East West Center (University of Hawaii) and Office of Human Rights Studies and Social Development (Mahidol University)

การสัมมนานี้ต้องฟังบรรยาย และแสดงความคิดเห็น พร้อมทั้งมีการบ้านอีก โอ๊ย.... ไม่รู้ว่าจะเรียกว่า "แกว่งเท้าหาเสี้ยนหรือเปล่าก็ไม่รู้"

แต่นี่ผ่านมาวันนึงแล้ว ทุกอย่างก็ผ่านไปได้ด้วยดี ได้รู้จักคนมากหน้าหลายตา เพราะโปรแกรมนี้มีหลายชาติเข้าร่วม ได้แก่ ไทย ฝรั่งเศส กัมพูชา พม่า ญี่ปุ่น อิตาลี อเมริกา มาเลเชีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย นิวซีแลนด์ ปากีสถาน และติมอร์เลสเต

คิดดูแล้วกันภาษาสำเนียงตีกันโขมงโฉงเฉง ทั่วห้อง

โอ๊ย.....อยากจิบร้า

วันนี้ช่วงเช้าบรรยายโดย Prof.David Cohen จาก U.C. Berkeley War Crimes Studies and Assoc.Prof.Suzannah Linton from University of Hong Kong เรื่อง Transitional Justice

ช่วงบ่ายบรรยายโดย Prof.Vitit Muntarbhorn, Chulalongkorn University เรื่อง Transitional Justice and Peace-building


จบวันแรก

เป็นอันสลบ

Thursday, 8 May 2008

Congratulations

"ยินดีด้วย" ถ้อยคำธรรมดาที่เราทั้งหลายอาจจะเคยพูดเวลาที่เราได้รับรู้เรื่องราวดีๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตใครคนใดคนหนึ่ง

การพูดแสดงความยินดีนั้น หลายครั้งที่เราอาจต้องแสดงออกตามมารยาทของผู้รับฟังที่ดี ซึ่งผมเคยทำบ่อยๆ และคาดว่าหลายคนก็เคยทำกันบ้างไม่มากก็น้อย

คนที่รับฟังคำแสดงความยินดี หรือคำชมต่างๆ อาจตามมา ถึงแม้รู้ว่าผู้พูด อาจพูดขึ้นมาตามมารยาทก็ตาม แต่ก็ยังอดยิ้มตามไม่ได้

ดังคำกล่าวว่า "การห้ามไม่ให้โกรธเมื่อมีคนว่า ยังง่ายกว่าการห้ามไม่ให้ยิ้มเมื่อมีคนชม"

แต่หากว่าการแสดงความยินดีนั้นแสดงออกมาจากผู้ที่เรารู้เสมอว่าพร้อมที่จะยินดีในความสำเร็จของเราตลอดเวลา เราคงไม่ต้องสงสัยในความหมายภายหลังถ้อยคำเหล่านั้นเลย

ผมเพิ่งทราบผลการคัดเลือกเข้าเรียนปริญญาโทที่ประเทศสวีเดนอย่างเป็นทางการเมื่อไม่เกิน 8 ชั่วโมงที่ผ่านมา ผมไม่รีรอที่จะแจ้งข่าวดีให้แม่ผมทราบเหมือนปกติที่ผมทำทุกครั้ง

ไม่เกินคาดเดาว่าแม่ผมดีใจเช่นกัน แค่คำพูดที่กล่าวเพียงว่า "ยินดีด้วยนะ" แค่เพียงคำเดียว

มันแทนถ้อยคำมากมายที่ยากจะพรรณนาถึงความปรารถนาดีที่แม่ให้.........แค่นี้เพียงพอแล้วครับ

รักอาม้าครับ รักอาปาด้วย

Wednesday, 7 May 2008

University of Lund

สวัสดีครับทุกคน


ผลของประเทศสวีเดนประกาศอย่างเป็นทางการแล้วครับ


ผมได้ Master Programme in International Human Rights Law at University of Lund, Lund, Sweden ครับ


ความพยายามในการใฝ่หาที่เรียนที่ใช้ค่าใช้จ่ายน้อยของผม ประสบความสำเร็จแล้วครับ เพราะที่สวีเดน ไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียนครับ ย้ำ ย้ำ เรียนฟรี ครับ เรียนฟรี


แม้ว่ากระบวนการต่างๆ จะใช้เวลามาก และต้องใจหายใจคว่ำหลายครั้งหลายครา เดี๋ยวเลื่อน เดี๋ยวเลื่อน ทำเอากินไม่ได้นอนไม่หลับไปหลายเพลา


แต่พูดได้เต็มปากว่าขั้นตอนต่างๆ ในการสมัครเรียนที่สวีเดน เป็นสิ่งที่ผู้สมัครทุกคนต้องทำเองทุกอย่างเลย ไม่สามารถให้ใครทำแทน หรือสมัครผ่านตัวแทน เพราะทุกหลักสูตรในประเทศสวีเดนจะต้องสมัครผ่านส่วนกลางของรัฐบาลเท่านั้น คือที่ http://www.studera.nu/ ทุกคนต้องเข้าไปสร้าง webpage ของตัวเอง


เพื่อสมัครและติดตามผลการสมัคร และขั้นตอนเอกสารทั้งหลายของทุกหลักสูตรทุกมหาวิทยาลัยในสวีเดน จะต้องจัดส่งไปที่ส่วนกลางที่เดียวคือที่ University Studies in Sweden


ถึงแม้จะเหนื่อย แต่ขอบอกว่าคุ้มสุดๆๆๆๆ


วันนี้แค่ต้องการบอกว่าผมดีใจมาก อย่างน้อยการไปเรียนครั้งนี้ผมก็สามารถแบ่งเบาภาระที่บ้าน ไม่ต้องให้ทางบ้านสนับสนุนด้านการเงินเท่าใดนัก


อยากบอกฝากทุกคนที่มีความฝันที่จะเรียน Sweden เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ไม่ควรมองข้ามนะครับ


ก่อนจากขอฝากรูปมหาวิทยาลัยลุนด์สวยๆ ไว้ให้ดูเล่นสักนิดหน่อยครับ


รูปนี้เป็นรูปในมหาวิทยาลัยครับ


















รูปนี้รู้สึกว่าจะเป็นตึกเรียนคณะปรัชญาหรือไงเนี่ยะแหละ












รูปสุดท้ายนี้ เป็นรูปหอสมุดครับ ดูขลังมั๊ย

Tuesday, 6 May 2008

Teacher

วันนี้โอกาสดี ได้กลับไปโรงเรียนเทพศิรินทร์อีกครั้ง

เหตุการณ์มากมายเกิดขึ้นตลอด 6 ปีที่ผมอยู่ที่เทพศิรินทร์ บ้างน่าจดจำ บ้างน่าลืม แต่กลับไม่ลืม

แต่ที่ทำให้วันนี้ผมรู้สึกนึกถึงมากที่สุด คงเป็นครูประจำชั้นคนแรกของผม ชั้นม.1/8 "อาจารย์ภิรมย์ วงศ์เหลือง"

จากเด็กต่างจังหวัดที่ต้องการการเอาใจใส่อย่างมากในการปรับตัวเข้ากับคนอื่น

ในความทรงจำของผมอาจารย์ภิรมย์คอยให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดีแก่นักเรียนทุกคนซึ่งรวมถึงผมด้วย

แม้ว่าผมขึ้นมาอยู่ม.2, 3 หรือ ม,ปลายแล้วก็ตาม แต่ผมยังคงแวะเวียนไปพูดคุยกับอาจารย์ตลอดเท่าที่โอกาสอำนวย และให้อาจารย์คอยช่วยเหลือในบางโอกาส

คิดถึงอาจารย์มากนะครับ แม้ว่าวันนี้อาจารย์ไม่ได้อยู่เห็นว่าลูกศิษย์คนนี้ดำเนินชีวิตได้ดีเพียงใดก็ตาม แต่ผมมั่นใจว่าอาจารย์พร้อมที่จะยินดีในความสำเร็จของลูกศิษย์คนนี้เสมอ

1o ปีแล้วนะครับครู..........

หลับให้สบายนะครับ.......................คุณครูของผม

Elememts

"ชีวิตคนเราดำเนินไปตามเหตุปัจจัยหลายประการที่ประกอบเข้าด้วยกัน" ถ้าผมพูดแค่นี้ คาดว่ามีหลายคนที่เข้าใจ แต่ในทางกลับกันหลายคนก็อาจไม่เข้าใจว่าผมพูดอะไร????

ครั้งแรกที่ผมเริ่มคิดว่าหลักธรรมในพระพุทธศาสนา มีอะไรมากกว่าที่ผมรู้มาตั้งแต่เด็กว่าคือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับผมราวๆ เดือน เมษายนถึงพฤษภาคม 2546 ที่วัดญาณเวศกวัน วันนั้นผมมีปัญญาที่สุมอยู่ในใจค่อนข้างมาก เพื่อนผมชวนไปวัดญาณฯ ครั้งแรก วันนั้นที่วัดผมได้นั่งฟังธรรมะบรรยายเรื่อง ปฏิจจสมุปปบาท จากพระอาจารย์ครรชิต คุณวโร

ผมนั่งฟังวันนั้น ผมขอบอกว่าผมไม่รู้เรื่องเลยสักนิดเกี่ยวกับหลักธรรมที่ท่านบรรยาย แต่ผมกลับฉุกคิดจากตัวอย่างง่ายๆ เพียงตัวอย่างเดียว คือ

"ช่างไม้ได้ทำเก้าอี้ไม้ขึ้นมาตัวหนึ่ง คนพากันไปทดลองนั่งแล้วก็ชมช่างไม้ว่าทำเก้าอี้ได้ดี นั่งแล้วมั่นคงแข็งแรง ไม่โยกเยก ดังนี้ จริงๆ แล้วการที่เก้าอี้ตั้งอยู่ได้อย่างมั่นคงแข็งแรงนั้น หาใช่เป็นเพียงเพราะการที่ช่างไม้คำนวณอย่างแม่นยำ ประกอบอย่างถูกต้อง เท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยอื่นประกอบอีก เช่น แรงดึงดูดของโลกที่ดูดเก้าอี้ไว้กับพื้น ไม่ล่องลอยในอากาศ หรือน้ำหนักของคนที่นั่ง"

ใครจะเชื่อหรือไม่ก็ตาม หลังจากผมฟังตัวอย่างแล้ว ผมจึงคิดได้ว่าปัญหาที่รุมเร้าผมในขณะส่วนใหญ่ไม่ได้ขึ้นกับตัวผม ผมจึงค่อยๆ ขบคิดและปล่อยวางลงไปที่ละน้อย จนกระทั่งปัญหาเหล่านั้นมากระทบจิตใจผมไม่ได้เลยในเวลาต่อมา อย่างที่เขาว่ากันว่า เวลาผงเข้าตาเขี่ยตาตัวเองอย่างไรผงก็ไม่ยอมออกซะที ต้องให้คนอื่นเขี่ยให้

จากเหตุการณ์นี้ผมได้คิดว่า ทุกเรื่องล้วนแต่มีเหตุปัจจัยที่ต่างกันหลายประการ ดังนั้นพึงควรทำเหตุปัจจัยให้ถึงพร้อม เพื่อความสำเร็จของการงานที่ทำ จะเป็นแนวทางที่ไม่ประมาท และทำให้งานนั้นประสบความสำเร็จ

จากวันนั้นทำให้ผมค่อยๆ ศึกษาธรรมะอย่างเข้าใจ มากกว่าท่องจำ กระทั่งได้เข้าบรรพชาที่วัดญาณฯ แห่งนั้นนั่นเอง

Monday, 5 May 2008

Surname

ความทรงจำในเรื่องนามสกุลของผมนั้น ก็มีสิ่งที่น่าจดจำเช่นกัน

เดิมนั้นผมมีนามสกุลว่า "โอสถเจริญผล" เป็นนามสกุลที่ลุงตั้งขึ้น เพราะเดิมครอบครัวทางพ่อผมทำกิจการร้านขายยา ก็เลยใช้นามสกุลนี้มาเรื่อยๆ

ทำไมถึงอยากเปลี่ยนนามสกุล.... ครอบครัวเราห็นว่าพวกเราน่าจะตั้งนามสกุลใหม่เสียที ให้พ่อเป็นคนตั้งนามสกุลแล้วพวกเราก็เปลี่ยนไปใช้นามสกุลของพ่อ

เหตุที่เปลี่ยนนี้จึงไม่มีเหตุผลใดแอบแฝงหรอกเพียงแค่อยากให้เรามีสกุลของพวกเรากันนั่นเอง

นามสกุลใหม่ใช้เวลากว่าจะได้นานมาก เท่าที่จำได้น่าจะมากกว่า 3-4 ปี เพราะแม่ไม่อยากได้นาสกุลที่ยาวและเขียนยาก

จนกระทั่งพี่ชายผมบวชที่วัดญาณเวศกวัน ก็เลยได้ไอเดียให้พี่ขอนามสกุลใหม่จากท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) หรือพระธรรมปิฎกในขณะนั้น เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2547

ซึ่งท่านก็เมตตาตั้งนามสกุลใหม่ให้เรามากมายหลายนามสกุลทีเดียว เท่าที่อยากกล่าวในที่นี้เพื่อยืนยันถึงความเมตตาของท่าน นามสกุลที่ท่านตั้งให้
  1. หยั่งญาณทัศน์ (หยั่งรู้หยั่งเห็น ใช้ญาณทัศน์หยั่งดูให้รู้ความจริง)
  2. ยั่งยืนธรรมสถิต (ดำรงอยู่ในธรรมะอย่างยั่งยืน)
  3. ยั่งยืนธรรมโศภิต (งามด้วยธรรมอย่างยั่งยืน)
  4. ยั่งยืนญาณสถิต (ดำรงอยู่ในความรู้อย่างยั่งยืน)
  5. ชยางคกุล (ตระกูลที่มีคุณสมบัติแห่งชัยชนะ)
  6. ชยางควัฒน์ (เจริญด้วยคุณสมบัติแห่งชัยชนะ)
  7. ชยางค์พล (พลังที่มีคุณสมบัติแห่งชัยชนะ)
  8. ทยางค์พล (พลังที่มีคุณสมบัติแห่งความเมตตาการุณย์)
  9. ทยางคานนท์ (ยินดีในคุณสมบัติแห่งความเมตตาการุณย์)
  10. ทยางคสมิทธิ์ (ความสัมฤทธิ์ผลแห่งคุณสมบัติข้อเมตตาการุณย์)
  11. ปรียังกรณ์, ปริยังกร (ทำให้เป็นที่รัก, ทำให้ชื่นชมรักใคร่พอใจ)
  12. ปิยังกรภัทร์ (ทั้งน่าชื่นชมรักใคร่ และเจริญ มีโชค)
  13. สมิทธิวันต์ (มีความสำเร็จ)
  14. นาทวรินทร์ (มีเสียงบันลือ (อำนาจ) ที่เลิศประเสริฐเป็นใหญ่)
  15. วรินทวัศ (อำนาจของผู้เลิศประเสริฐยิ่งใหญ่)

เหล่านี้ล้วนเป็นนามสกุลที่ท่านเจ้าคุณตั้งให้

ครอบครัวเราจึงมาลงมติเลือกนามสกุลออกมาแล้วผมก็เอาไปตรวจสอบการซ้ำว้อนว่ามีนามสกุลเหล่านี้ใช้อยู่หรือยัง และในที่สุดก็เลือกก็คือ "ชยางคกุล" (JAYANGAKULA) เป็นนามสกุลใหม่ของครอบครัวเรา เพราะเขียนง่าย ความหมายดี

ผมจึงถือว่าสิ่งนี้เป็นความทรงจำที่ดีความทรงจำหนึ่งในชีวิต และเป็นหนึ่งในมงคลในชีวิตของผมเช่นกันที่ท่านเจ้าคุณได้ตั้งนามสกุลนี้ให้แก่ครอบครัวเรา

Sunday, 4 May 2008

My Memories

ความทรงจำของคนเรานั้นเป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ ในทางธรรมะ จะเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้ เป็น " สัญญา"

สัญญา อธิบายง่ายๆ ว่าเมื่อเราทำอะไร หรือมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นกับชีวิตเราแล้ว สิ่งเหล่านั้นจะถูกจดจำไว้ อยู่ที่ว่าเราจะนึกถึงได้หรือเปล่า แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นจะยังคงถูกจดจำอยู่เสมอ

ตัวอย่างเช่น หลายคนอาจจะเคยได้ยินว่า เมื่อคนเราใกล้ตาย ในเสี้ยววินาทีนั้น จะมีภาพเหตุการณ์ในอดีต ไม่ว่าทำดีทำชั่วปรากฏขึ้นมาให้เราเห็น แม้ว่าเหตุการณ์เหล่านั้นบางที่เรากลับลืม และไม่เคยนึกถึงมากว่าค่อนชีวิตแล้วก็ตาม ดังนี้ สิ่งเหล่านี้ยังถูกบันทึกไว้ไม่ได้ถูกลบไป

ความทรงจำของเราจึงมีคุณค่าเสมอ ต่อตัวเรา

หากแต่บางทีเราได้ลืมมันไปแล้ว............

ผมอยากให้ทุกคนคิดถึงความทรงจำดีๆ และร้ายๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต เพราะในชีวิตคนเราใช่เพียงแต่มีสิ่งที่ดีๆ ผ่านเข้ามาเสียเมื่อไหร่

ผมอยากให้ทุกคนลองนั่งเงียบๆ นึกถึงความทรงจำในอดีต แล้วลองจับความรู้สึกว่าตนที่นึกถึงนั้น เรายิ้ม หรือ เศร้า หรือร้องไห้

ผมได้ลองทำอย่างนี้มานานแล้ว นานพอที่จะบอกทุกคนได้ว่าสิ่งนี้มีคุณค่ากับจิตใจของคุณมาก

ผมได้บันทึกความทรงจำของผม เป็นตัวหนังสืออยู่บ้างเท่าที่ผมจะจำได้ ในบล็อกอีกบล็อกของผม แต่ไม่ได้เปิดให้ทุกคนที่รู้จักผมอ่าน แต่ตอนนี้ผมตัดสินใจแล้วว่าผมจะเผยแพร่ความทรงจำของผมแก่ทุกคน

บางคนอาจคิดว่ามันดูเหมือนน่าขัน หรือน้ำเน่า แต่ว่าผมแค่หวังว่าอย่างน้อยแง่คิดเล็กๆ ใน K-JAY's Memories : http://knui.blogspot.com/ นี้ จะมีส่วนสร้างความรู้สึกในความทรงจำดีๆ ของทุกคน หรือสร้างความทรงจำดีๆ ให้แก่ทุกคนได้บ้างเท่านั้น

K-Jay / Kitmarc / Knui / หนุ่ย

Pay Respect

การแสดงความเคารพตามขนบธรรมเนียมประเพณีของคนไทยนั้น มีอยู่มากมายหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับกาละและเทศะที่ผู้นั้นจะแสดงความเคารพนั้น

ตั้งแต่เด็กผมจำได้ว่าผมไม่เคยกราบเท้าพ่อและแม่เลย (ถ้านับข้ามๆ งานวันพ่อวันแม่ที่ทางโรงเรียนจัดขึ้น) บางทีแอบอิจฉาหลายคนที่มีโอกาสเหล่านั้น

ผมเคยคิดหาโอกาสอยู่หลายครั้งมากว่า เราจะถือโอกาสไหนดีหนอที่จะกราบเท้าพ่อและแม่ได้ บางคนอาจไม่ต้องคิดมากเช่นผม แต่อย่างที่เคยบอกครั้งแรกในการทำทุกสิ่งมักต้องคิดมากเสมอแหละ จริงไหม?

จวบจนกว่า 20 ปีผมก็ไม่เคยกราบเท้าพ่อและแม่อย่างเป็นทางการเสียที จนกระทั่งเมื่อปีพ.ศ. 2547 ผมได้เข้าบวชที่อุโบสถ วัดญาณเวศกวัน โดยมีพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) หรือพระธรรมปิฎก (ในขณะนั้น) เป็นพระอุปัจฌายะ

นอกจากการบวชครั้งนี้จะเป็นการบรรพชาครั้งแรกของผมแล้ว ยังถือเป็นโอกาสที่ผมจะได้กราบเท้าผู้มีพระคุณคือ พ่อและแม่อย่างเป็นทางการอีกด้วย

การกราบเท้าพ่อแม่ เป็นความรู้สึกที่ไม่สามารถบรรยายออกมาเป็นคำพูดได้จริงๆ นะครับ แต่ผมขอบอกได้เลยว่ามันเป็นมงคลแก่ชีวิตอย่างยิ่ง (จำได้ว่าไม่เพียงแต่ผมเท่านั้นที่น้ำตาไหล แต่พ่อและแม่ผมก็เช่นกัน)

จากนั้นผมก็มีโอกาสอีกครั้งตอนสึกจากเพศบรรพชิต ผมมีโอกาสที่จะกราบเท้าพ่อและแม่อีกครั้ง

จากเหตุการณ์ทั้งสองที่ผมหยิบยกขึ้นมานี้ ทำให้ผมรู้และเข้าใจสิ่งหนึ่งขึ้นมา ก็คือ การแสดงความเคารพนั้นต่อพ่อแม่นั้น ท่านทั้งสองไม่ได้เพียงรับรู้โดยการกระทำทางกายเท่านั้น แต่ท่านจะรับรู้ถึงสิ่งที่อยู่ในจิตใจของลูกของท่านด้วยเสมอ

อยากให้ทุกคนแสดงความเคารพ ความรัก ความห่วงใยพ่อแม่ของทุกคนมากๆ และบ่อยๆ เท่าที่มีโอกาส

ดังพุทธพจน์ที่ว่า "ปูชา จะ ปูชนียานัง เอตัมมัง คะละมุตตะมัง" "การบูชาคนที่ควรบูชา ถือเป็นมงคลแก่ชีวิตอย่างยิ่ง"

Thursday, 1 May 2008

So Proud

หลายปีที่แล้ว ผมเคยมีความรู้สึกเบื่อที่หลายครั้งพ่อแม่มักจะเอาเรื่องของผมไปเล่าโชว์ญาติพี่น้อง เพื่อพ้อง ว่าผมเรียนที่ไหน ทำงานอะไร หรือกำลังจะทำอะไร เพราะว่าผมมีความรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องในครอบครัวที่เราไม่เห็นมีความจำเป็นที่จะต้องเอาไปโพทนาให้คนอื่นๆ เขารับรู้ หรือร่วมยินดีกับผมนี่นา แค่รู้กันในครอบครัวก็พอแล้ว

หลายคนที่เคยมีความรู้สึกอย่างผม ลองคิดในทางกลับกันดูนะครับ

  1. เรื่องพี่พ่อแม่เราเล่าให้คนอื่นฟัง คือเรื่องของใคร ตอบ เรื่องของเรา
  2. คนที่พ่อแม่เล่าให้ฟัง เป็นคนรู้จักของใคร ตอบ คนรู้จักของพ่อแม่ ที่อาจไม่รู้จักเรา
  3. พ่อแม่เล่าให้เขาฟังทำไม ตอบ อาจจะเพราะต้องการบอกให้คนอื่นรู้ว่าลูกเขาเก่ง มีความสามารถ หรือประสบความสำเร็จในชีวิตเพียงใด หรือไม่ก็พูดจนให้คนอื่นอิจฉาว่ามีลูกที่ดี ฉลาด เก่ง กว่าคนอื่น
  4. ทำไมพ่อแม่ถึงได้ต้องเล่าให้เขาฟังด้วย ตอบก็เพราะว่าพ่อแม่เราภูมิใจในตัวเรา

ดังนั้น "ไม่มีเหตุผลที่เราจะไม่พอใจที่พ่อแม่ภูมิใจในตัวลูกคนนี้"

ตัวลูกเสียอีก "เคยสักครั้งไหมที่จะบอกให้คนทั้งหลายรู้ว่าเราภูมิใจในตัวพ่อแม่เรามากหรือน้อยเพียงใด เคยไหมที่จะกล่าวชื่นชมพ่อแม่ให้คนอื่นฟังจนอิจฉาที่มีพ่อแม่เช่นพ่อแม่เรา"

ลองถามตัวเองดูสักครั้ง แล้วนับดูว่ามีบ้างไหม และมีกี่ครั้งที่จำได้

ถ้าเราก็ภูมิใจในตัวท่าน ก็ลองเปรียบกันดู

"พ่อแม่เราภูมิใจในตัวเราตั้งแต่แรกที่รู้ว่าตั้งท้อง

วันที่เราลืมตาดูโลก

วันแรกที่เราพูด

วันแรกที่เราเรียกชื่อพ่อแม่

วันแรกที่เราเริ่มเดิน

วันแรกเราไปโรงเรียน

วันที่เราเรียนจบ

วันที่เราประสบความสำเร็จ

จนปัจจุบัน"

แค่นับวันเวลาแห่งการภาคภูมิใจในกันและกันอย่างน้อยความภาคภูมิใจของพ่อแม่มันก็ยาวนานกว่าเรา

เพราะมันเกิดขึ้นก่อนที่เราจะมองเห็นและจดจำหน้าพ่อแม่ได้ รวมไปถึงเข้าใจในความภาคภูมิใจด้วยซ้ำ

Contact

คอนแทคในที่นี้ไม่ใช่การติดต่อ แต่เป็นการสัมผัส

การสัมผัสเป็นการถ่ายทอดความรู้สึกต่อกันโดยไม่จำเป็นต้องอาศัยการพูดและการได้ยิน

หลายครอบครัวคงเป็นเหมือนผม คือในครอบครัวเราไม่ค่อยมีการสัมผัสกันมาก ไม่ว่าจะเป็นการกอด หรือการหอม อย่าว่าเลยแม้แต่การบอกรักกันก็เป็นเรื่องยากสำหรับครอบครัวผม

เวลาผ่านไปนานเกินกว่าที่ผมจะกลัวในการแสดงออกถึงความรู้สึกเหล่านั้นอีกต่อไป ผมเริ่มที่จะจับมือพ่อแม่ นอนหนุนตัก กอดแขน ไปถึงการกอดตัว ผมกล้าที่จะยืนกอดต่อหน้าสาธารณะชนโดยไม่จำเป็นต้องอายใคร

เพราะเมื่อคุณกอดแม่ของคุณ สิ่งที่คุณต้องคิดถึงคือความรู้สึกของแม่ที่ได้รับการกอดจากคุณ มากกว่าความรู้สึกของคนอื่นที่เห็นคุณกอดแม่

ดังนั้นตอบได้ไม่ยากเลยว่า แม่ชอบไหมที่เรากอด แล้วก็ตอบได้ไม่ยากอีกเช่นกันว่าชอบ

จึงอาจกล่าวได้ว่า ไม่มีเหตุผลเลยที่ผมจะไม่กอดแม่ทุกครั้งที่ผมต้องการแสดงความรัก ความห่วงใยต่อแม่ผม

หลายคนที่ยังมีโอกาสที่จะกอดคนที่คุณรัก ก็ทำไปเถิดครับ อย่าไปสนใจความรู้สึกของคนอื่น พึงสนใจเฉพาะความรู้สึกของคนที่คุณกอดเขาก็เพียงพอแล้ว